อดีตกรรมการทันตแพทยสภาชี้ ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยกระทบความปลอดภัยของหมอฟัน เพราะการอุดฟัน ขูดหินปูน ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของละออง ถ้าไม่มีหน้ากากใส่จะอันตรายต่อตัวให้บริการเสียเอง เผยในโรงพยาบาลรัฐบางแห่งเริ่มเสนอผู้อำนวยการของดการบริการแล้ว ขณะที่คลินิกทันตกรรมเอกชนก็ต้องกัดฟัน จะราคาไหนก็ต้องซื้อ
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อดีตกรรมการทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาลในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการของทันตแพทย์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากงานหัตการส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของละอองหรือละอองฝอย เช่น การขูดหินปูน การอุดฟัน ซึ่งโดยขั้นตอนปกติทันตแพทย์จะใส่หน้ากากอนามัยและมี face shield เป็นตัวป้องกัน เมื่อเสร็จจากคนไข้หนึ่งคนก็จะทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อก่อนจะให้บริการผู้ป่วยรายต่อไป
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ซึ่งตาม Dental Safety Goal & Guideline กำหนดว่าให้ผู้ประกอบวิชาชีพและทันตแพทย์สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติงาน หากไม่มีหน้ากากใส่ก็จะไม่ปลอดภัยต่อตัวผู้ให้บริการเสียเอง และจากที่พูดคุยในวงการพบว่าส่วนที่อาการหนักคือทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐ เริ่มมีการเสนอผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันแล้วว่าควรงดการให้บริการดีหรือไม่เพราะถ้าไม่มีอุปกรณ์ป้องกันจะเป็นอันตรายต่อตัวผู้ให้บริการ ซึ่งเรื่องนี้ก็แล้วแต่ผู้บริหารของโรงพยาบาลแต่ละแห่งว่าจะพิจารณาอย่างไร
"ในส่วนของคนไข้ไม่ต้องห่วง งานด้านทันตกรรมมีระบบการฆ่าเชื้อที่ดีมาก ปลอดภัยแน่นอน แต่ปัญหาคือบุคลากรจะไม่ปลอดภัย ทันตแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ขาดแคลนหน้ากากเขาก็เลยบอกว่าจะไม่ทำแล้ว" ทพ.ธงชัย กล่าว
ทพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของคลินิกทันตกรรมของเอกชนจะมีการปรับตัวได้ดีกว่าบ้าง แต่ก็ต้องจัดหาหน้ากากให้ได้และราคาก็ถีบตัวสูงถึงกล่องละ 870-900 บาทจนกระทบกับต้นทุน แต่ไม่ว่าจะราคาไหนก็ต้องสู้เพราะคงจะให้ปิดคลินิกก็คงปิดไม่ได้
ด้านทันตแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลที่ตนปฏิบัติงานอยู่ในขณะนี้มีหน้ากากอนามัยเหลือจำกัด อาจใช้ได้อีกประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ทางผู้บริหารก็มีนโยบายให้ใช้อย่างประหยัด แต่ในส่วนของงานทันตกรรมต้องใช้ตามอัตราปกติ ไม่สามารถประหยัดได้ เพราะการทำหัตการ เช่น ขูดหินปูน อุดฟัน มีการฟุ้งและกระจายได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่นของโรงพยาบาลด้วยซ้ำ จะใช้หน้ากากซ้ำก็ไม่ได้ หรือใช้หน้ากากผ้าก็ไม่ปลอดภัยตามหลักวิชาการ
ขณะเดียวกัน เท่าที่เห็นจากสื่อสังคมออนไลน์ก็พบว่ามีหน่วยบริการบางแห่งที่จะขอจำกัดการบริการอุดฟัน ขูดหินปูนแล้ว อาจจะเหลือแค่การถอนฟันซึ่งไม่เกิดการฟุ้งของละออง หรือให้บริการในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่ในส่วนของโรงพยาบาลที่ตนปฏิบัติงาน ตนยังมองในแง่ดีว่าผู้บริหารจะสามารถจัดการปัญหาความขาดแคลนได้ก่อนหน้ากากจะหมด คงยังไม่ถึงจุดที่ต้องหยุดบริการ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณะสุข กล่าวว่า ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการแต่ละเขตสุขภาพ รวมทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไปสำรวจความเพียงพอของทรัพยากรแล้ว หากมีความไม่เพียงพอก็ต้องแจ้งตามลำดับชั้น แล้วหัวหน้าส่วนราชการก็จะเข้าไปช่วยดูแล ถ้าระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลจัดการไม่ได้ก็ต้องเป็น สสจ.ช่วยดูแล ถ้ายังแก้ไม่ได้ก็ต้องเป็นผู้ตรวจราชการ ขณะที่การตัดสินใจงดหรือไม่งดการให้บริการก็ต้องเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลตัดสินใจแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ถ้าผู้อำนวยการจัดหาหน้ากากไม่ได้ ก็ต้องแจ้ง สสจ.ให้ช่วยเติมเข้ามา
"ตรงนี้ขึ้นอยู่กับหน้างาน ความปลอดภัยของบุคลากรเป็นเรื่องใหญ่ ผู้บริหารต้องตัดสินใจ นี่คืออำนาจการบริหารที่กระจายออกไป ก็เพื่อมีผู้บริหารมาแก้ปัญหาเหล่านี้" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
- 36 views