ทันตแพทยสภา จับมือ สคบ. แถลงความคืบหน้า รุกจัดการ “ธุรกิจผิดจัดฟันแฟชั่นออนไลน์กฎหมาย” เผยมีมูลค่ากว่า 10 ล้านบาทต่อปี หลัง สคบ.ออกประกาศห้ามขายอุปกรณ์จัดฟัน พร้อมชวน “แลปทันตกรรมมาตรฐาน” ยืนยันไม่ร่วมธุรกิจจัดฟันแฟชั่นออนไลน์ หลังมีข้อความอ้างบริการโดยแลปทันตกรรมมาตรฐาน เพื่อร่วมคุ้มครองประชาชน
ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม.- เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ได้มีการจัดประชุมแนวทางจัดการ “ธุรกิจจัดฟันแฟชั่น” ที่ระบาดอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้ จัดโดยทันตแพทยสภา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มผู้บริโภค (สคบ.) มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) บริษัทผู้จำหน่ายวัสดุทันตกรรม แลปทันตกรรม เจ้าหน้าที่ทันตแพทยสภาและ สคบ.ร่วม 30 คน
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ธุรกิจจัดฟันแฟชั่นที่ระบาดขณะนี้ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์มีมูลค่าซื้อขายมากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และยังเกิดผลเสียต่อผู้บริโภคจากการใส่รีเทนเนอร์ไม่ได้มาตรฐาน เป็นอันตรายต่อฟันและเนื้อเยื่อในช่องปาก รวมถึงยังมีสารพิษสะสมจากโลหะหนักกรณีที่ผู้ประกอบการใช้รีเทนเนอร์ไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ ทันตแพทยสภาและ สคบ.ได้ตระหนักถึงภัยอันตรายดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงได้ร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศเรื่อง “ห้ามขายสินค้าอุปกรณ์จัดฟัน” และบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจจัดฟันแฟชั่นออนไลน์ ที่เชิญชวนผู้บริโภครับจัดฟันแฟชั่น และการรับทำรีเทนเนอร์โดยให้ผู้บริโภคส่งรอยพิมพ์ปากที่ไม่มีคำสั่งจากทันตแพทย์ รวมทั้งการขายวัสดุจัดฟันทุกประเภท เป็นการกระทำผิดกฎหมาย มีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งภายหลังประกาศมีผลบังคับใช้ สคบ.และทันตแพทยสภาได้ติดตามและเฝ้าระวัง รวมถึงตรวจจับธุรกิจจัดฟันแฟชั่นผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสุ่มตรวจลวด ยาง ที่ยังขายตามสื่อออนไลน์ ยังพบโลหะหนักแคดเมียมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุม
“จากการติดตามพบว่า การโฆษณาธุรกิจจัดฟันแฟชั่นออนไลน์ ได้ปรากฎข้อความอ้างการจัดฟัน โดยแลปทันตกรรมขึ้นทะเบียน อย.เพื่อให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่า เป็นการจัดฟันที่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ประกอบการแลปทันตกรรมมาตรฐานที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.จริง ออกมายืนยันให้ข้อเท็จจริง เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ถูกหลอกลวงจากร้านค้าจัดฟันแฟชั่น เนื่องจากแลปทันตกรรมที่มีมาตรฐานจะไม่รับงานเหล่านั้นเพราะผิดจรรยาบรรณ” นายกทันตแพทยสภา กล่าวและว่า หลังจากนี้ สคบ.และทันตแพทยสภาจะทยอยดำเนินการจับกุมร้านค้าจัดฟันแฟชั่นออนไลน์อย่างจริงจัง นอกจากเป็นการปกป้องวิชาชีพทันตกรรมแล้ว ยังมุ่งเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชน
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อกำหนดให้วัสดุทันตกรรมสำหรับงานจัดฟันทุกรายการ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้มีการควบคุมตั้งแต่การนำเข้า การผลิต การจำหน่าย และการโฆษณาที่ต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551
ด้าน ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทันตแพทยสภา ให้ข้อมูลว่า ตามที่ได้รับเบาะแสเรื่องจัดฟันแฟชั่น ใน Facebook มือปราบหมอฟันเถื่อน ตั้งแต่เมษายน 2560 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้แจ้งเบาะแสมาทั้งหมด 308 ร้านค้า แยกเป็นการเปิดร้านรับจัดฟันแฟชั่น 90 ราย และจำหน่ายอุปกรณ์รวมทั้งรับทำรีเทนเนอร์แฟชั่น 218 ราย ซึ่งจากข้อมูลเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการขายอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นทางออนไลน์เป็นหลัก ทางทันตแพทยสภา ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่รับแจ้งพบว่า มีร้านค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 19 จังหวัด ซึ่งได้ส่งเรื่องให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการแล้ว ส่วนในพื้นกรุงเทพมหานครได้ประสานร่วมมือกับ สคบ.ในการติดตามจับกุมต่อไป
พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้าน ธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประกาศบังคับใช้ สคบ.ได้ติดตามและเฝ้าระวังธุรกิจจัดฟันแฟชั่นออนไลน์อย่างต่อเนื่อง มีการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเรื่องนี้ทันตแพทยสภาได้ประสานความร่วมมือมายัง สคบ. ซึ่ง พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ให้ความสำคัญ และมอบให้ตนเป็นหัวหน้าทีมเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการ นอกจากนี้จากที่ สคบ.ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังตรวจสอบสังคมออนไลน์ จึงได้มีการตรวจจับการโฆษณาเชิญชวนการจัดฟันแฟชั่นนี้ด้วย เรื่องนี้ สคบ.ได้ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันและเฝ้าระวัง ไม่ให้มีการโฆษณาชวนเชื่อและทำให้เกิดอันตราต่อผู้บริโภค
“การจัดฟันได้มีพัฒนการเปลี่ยนแปลงไป เดิมเป็นการรักษา ทำที่คลินิกทันตกรรมโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ภายหลังกลายเป็นกระแสจัดแฟชั่น มีการประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ เน้นผลประโยชน์ จนก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการดำเนิการอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันประชาชนเองต้องตรวจสอบ ซึ่งกรณีการใช้บริการทันตกรรมต้องจัดทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในภายหลัง” พ.ต.อ.ประทีป กล่าว
- 123 views