โลกย้ำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจ ชี้เซกเตอร์สุขภาพต้องชวนรัฐบาลให้สนใจลงทุนมากขึ้น อินเดียเสนอเพิ่ม “ตำแหน่ง” บุคลากรสาธารณสุข ช่วยแก้ปัญหาคนว่างงาน
วันที่ 1 ก.พ.2563 ที่โรงแรมเซนทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ได้มีการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในหัวข้อ “การจัดหาเงินทุนเพื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “Making Health Financing for UHC SAFE” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ และการเงินการคลังระดับโลก ร่วมแสดงความคิดเห็นในเวที
ยาสุฮิสะ ชิโอซะกิ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคม ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ของญี่ปุ่น การลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเรื่องคุ้มค่า เพราะสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการมากขึ้น และเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง -เท่าเทียม อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่น เองก็ไม่ได้ให้ระบบหลักประกันสุขภาพที่ “ฟรี” กับประชากรทุกคน ที่ผ่านมา มีการปรับระบบ ให้ประชาชนมีส่วนในการร่วมจ่ายเพิ่มขึ้น
“แต่ไม่ใช่ว่าร่วมจ่ายจะไม่มีปัญหา ราว 50 ปีที่แล้ว เราอยากช่วยเหลือผู้สูงอายุ ก็เลยปรับระบบ ตัดพวกเขาออกจากการร่วมจ่าย แต่ในเวลาต่อมา ก็พบว่า จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพ ทำให้ระบบไม่สามารถพยุงคนกลุ่มนี้ได้ทั้งหมด เมื่อรัฐบาลชุดต่อ ๆ มาจะให้พวกเขากลับมาร่วมจ่ายใหม่อีกรอบ ก็ต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จ บทเรียนของเรื่องนี้ก็คือ การพิจารณานโยบาย ควรจะมองถึงโครงสร้างระยะยาว และมองไปข้างหน้าว่าจะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร ไม่ใช่มองแต่ในช่วงเวลานั้น ๆ อย่างเดียว” ยาสุฮิสะ กล่าว
อดีต รมว.สาธารณสุขญี่ปุ่น กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ชาวญี่ปุ่นอายุ 75 ปีขึ้นไป ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในอัตรา 10% แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเห็นว่าจะมีปัญหาระยะยาว จากจำนวนประชากรที่อายุยืนขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้วางแผนให้คนกลุ่มนี้ร่วมจ่ายเพิ่มเป็น 20% ซึ่งก็จะมีฝ่ายที่เห็นแย้งเช่นกันว่าอาจสร้างภาระให้กับคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เตรียมปรับแพคเกจ และอยู่ระหว่างการคำนวณว่าคนที่มีเงินเก็บเท่าไหร่ ถึงจะไม่ต้องร่วมจ่าย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
ศรีนาท เรดดี ประธานมูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ อินเดีย กล่าวว่าความท้าทายสำคัญของอินเดียและทั่วโลกคือ ระบบสาธารณสุขอินเดีย ใช้งบประมาณไปมากกับการรักษา และมีแนวโน้มที่จะใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น จะต้องลงทุนสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งต้องกำหนดการสร้างระบบปฐมภูมิ ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยดึงภาคเอกชน ประชาสังคม และ สื่อมวลชน ให้ผลักดันรัฐบาล ในการสร้างวาระแห่งชาติเรื่องสุขภาพปฐมภูมิให้ได้
ทั้งนี้ เมื่อโลกเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมที่ระบบปัญญาประดิษฐ์ ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และมีการจ้างงาน ใช้แรงงานน้อยลง การเพิ่มตำแหน่งบุคลากรในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในระบบสุขภาพปฐมภูมิ จะเป็นตัวช่วยในการลดปัญหาการว่างงาน แต่สิ่งสำคัญก็คือรัฐบาลต้องลงทุนเพิ่มในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้ระบบได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ แอคเนค ซูคัท ผู้อำนวยการด้านธรรมาภิบาลระบบสาธารณสุข และการเงิน องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจโลก โตขึ้นด้วยค่าเฉลี่ย 4% แต่เซกเตอร์ด้านสุขภาพนั้นโตสูงกว่าคือเติบโตราว 6% นั่นทำให้ภาคเอกชน - นักลงทุน สนใจลงทุนในเซกเตอร์สุขภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้น ภาคเอกชนด้านสุขภาพจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในที่สุด อาจเป็นอุปสรรคกับภาครัฐในการจัดการ และลงทุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตัวเอง
“เพราะฉะนั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่านโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศ จะกำกับการลงทุนของภาคเอกชนได้อย่างไร ในยุโรป หลายประเทศ กระจายอำนาจการบริการบางอย่างที่ราคาไม่แพงมากให้โรงพยาบาลเอกชน – ภาคเอกชนช่วยจัดการ เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง หรือการบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยรัฐอาจแสวงหาความร่วมมือในรูปแบบ PPP หรือการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน แต่นั่นก็เป็นความท้าทายอีกแบบ เพราะภาคเอกชน ต้องการความมั่นคงในระยะยาว และต้องการความคงที่ของนโยบายรัฐ ส่วนภาครัฐก็ต้องการภาคเอกชนที่มีความสามารถจริง ๆ เพราะฉะนั้น รัฐต้องมั่นใจว่าหากจะลงทุนในรูปแบบ PPP จะให้ความเชื่อมั่นกับภาคเอกชนได้” แอคเนท กล่าว
ขอบคุณภาพประกอบจาก twitter
- 343 views