เปิดบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ให้ความร่วมมือในการควบคุม ป้องกันการระบาดของโรค ‘โควิด-19’ หลังถูกประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ปกปิดข้อมูลปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่า ทันทีที่มีการบังคับใช้ให้โรค “โควิด-19” หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จะมีการบังคับใช้อย่างไร และมีบทลงโทษอย่างไรสำหรับผู้ไม่ให้ความร่วมมือในการควบคุม ป้องกันการระบาดของโรคนี้
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายเรื่องนี้ ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วันนี้ (29 ก.พ.2563) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 เป็นต้นไป โดยสถานพยาบาล ผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม และห้องชันสูตร จะมีหน้าที่ตามกฎหมาย ในการรายงานและแจ้ง เมื่อสงสัยหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย เช่น มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค คือ จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน หรือมีโอกาสใกล้ชิดผู้ป่วย ก็ต้องนึกว่าถ้ามีอาการไข้ ทางเดินหายใจ ก็ต้องนึกว่าเป็นโรคนั้นได้ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ซักประวัติ เพื่อช่วยในการรักษา ขณะเดียวกันเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ถ้าทราบจะได้ปเองกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ให้ผู้ป่วยไม่ให้ไปอยู่ในจุดใกล้ชิดกับคนอื่น
"หากกฎหมายมีผลแล้ว การที่ไม่แจ้งก็จะมีโทษปรับจำนวน 2 หมื่นบาท แต่การที่เราให้ความรู้ประชาชนจะมีความตระหนักมากขึ้น จำนวนเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่ที่สำคัญคือความตระหนักและความปลอดภัยของตัวเองที่ได้รับการรักษาเร็วอย่างถูกต้อง กับผู้อื่นที่อยู่ใกล้ชิดจะได้ปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ กฎหมายมีไว้เพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคม หากทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายจะลดความเสี่ยง อย่างที่เน้นว่าการทำตามกฎหมายตนเองก็ปลอดภัยมากขึ้น รักษาถูกกับโรค ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ คนไข้คนอื่น คนในครอบครัวที่ใกล้ชิด จะได้รับการปกป้องด้วย" นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีกล่าวถึง 3 คำ ดังนี้
1.แยกกัก (Isolation) คือ กรณีพบผู้ป่วยอาจมีเชื้อ ก็นำรักษาในห้องแยก
2.การกักกัน (Quarantine) สำหรับคนที่ยังไม่ป่วย แต่มีโอกาสได้รับเชื้อ เช่น คนป่วยในบ้าน 1 คน คนใกล้ชิดมีโอกาสรับเชื้อแต่ยังไม่ป่วย ก็เอาคนเหล่านี้มากักกันไว้ อาจกักกันที่บ้าน (Home Quarantine) โดยอยู่อีกห้องหนึ่ง หรืออยู่ รพ. (Hospital Quarantine) แต่ไม่น่ากลัว เพราะส่วนใหญ่ที่ถูกกัน เมื่อครบ 14 วันก็ถือว่าเป็นคนไม่ป่วย โดย 2% กว่า ๆ เท่านั้น ที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแล้วมาพบเชื้อ แปลว่า 98% หลังกักกันเสร็จก็เป็นคนปกติเหมือนเดิม แต่ที่ต้องกักกันก็เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้กักกันที่ต้องสังเกตอย่างใกล้ชิดและคนอื่นที่อยู่รอบ ๆ ไม่ให้รับเชื้อ ซึ่งระหว่างกักกันก็ทำอย่างอื่นได้
3.คุมไว้สังเกตอาการ (Observation) กรณีนี้อาจเป็นคนสัมผัสแต่ไม่ใกล้ชิด เช่น อยู่ห่างบนเครื่องบินลำเดียวกัน มีผู้ป่วย 1 คน คนสัมผัสใกล้ชิดคือคนที่นั่งรอบ ๆ 2 แถวหน้าหลัง แต่คนที่นั่งไกลออกไปเป็นสัมผัสเสี่ยงต่ำ ก็ให้สังเกตอาการ สามารถอยู่ที่บ้าน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องวัดไข้ทุกวัน มีอาการไอ น้ำมูกหรือไม่ มีอาการให้รีบพบแพทย์ กลุ่มนี้เสี่ยงน้อยกว่า แต่ก็ต้องคุมไว้เพื่อสังเกต ถ้ามีกฎหมายแล้ว เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถสั่งให้ทำได้ โดยไม่บิดพลิ้ว ขณะนี้ขอความร่วมมือ เพราะยังไม่ได้ใช้กฎหมายเป็นตัวนำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งให้ดำเนินการ เช่น แยกกัก กักกัน หรือคุมตัวไว้สอบสวน ดังนั้น หากมีคำสั่งให้คนที่กลับจากประเทศเสี่ยงต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน 14 วัน หากไม่ดำเนินการคำสั่งก็จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 51 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คือ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ทั้งนี้ เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว จะสามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อาทิ
-กรณีเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อตามาตรา 40 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 45 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
-ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือเจ้าพนักงานงานควบคุมโรคติดต่อ หรือบุคคลตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- 2874 views