หากเอ่ยถึงคำว่า Smart Hospital แล้ว โรงพยาบาลสมุทรปราการถือเป็นหน่วยบริการอันดับต้น ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อลดภาระงานและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการได้อย่างเป็นรูปธรรม สมกับคำว่า Smart Hospital อย่างแท้จริง
พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ
พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาโรงพยาบาลสู่การเป็น Smart Hospital ว่า จุดเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน เป็นไปตามสภาพปัญหาที่ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการ ทั้งระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้านและการที่ต้องมาเสียเวลารอที่โรงพยาบาล
พญ.ฤทัย ให้ข้อมูลว่าพื้นที่ จ.สมุทรปราการมีประชากรถึง 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานย้ายถิ่น 1.2 ล้านคน แรงงานเหล่านี้มีการโยกย้ายสถานที่ทำงาน ข้อมูลสุขภาพจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรถึงจะเรียกดูข้อมูลสุขภาพได้จากทุกจุด ไม่ว่าไป อ.บางบ่อ อ.พระประแดง ฯลฯ ก็สามารถเรียกดูข้อมูลเดียวกันได้เพื่อให้คนไข้ไม่เสียสิทธิในการรักษา
ขณะเดียวกัน ในส่วนของบุคลากรเองก็มีกำลังแค่ 65% ของภาระงานที่มี ซึ่งภาระงานนี้ก็คำนวณตามทะเบียนบ้านในพื้นที่ 1.3 ล้านคนเท่านั้น ประกอบกับผู้ที่มารับบริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 3,200 คน/วัน ผู้ป่วยใน 615 คน/วัน เป็นสาเหตุให้ทำงานไม่ทันหรือถ้าทันก็เร่งรีบมากจนอาจเกิดอุบัติเหตุและทำให้คนไข้เสี่ยงอันตราย
เพื่อช่วยให้ทั้งคนทำงานและผู้รับบริการสะดวกสบายขึ้น โรงพยาบาลจึงต้องนำเทคโนโลยีมาทดแทนเพื่อลดภาระงานและลดขั้นตอนการทำงาน โดยเริ่มดำเนินการมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2555 ในช่วงแรกก็มีตะกุกตะกักบ้างเพราะยังไม่ Transformation จนมาถึงเดือน ก.พ. 2561 ถึงได้ Transform เต็มรูปแบบ เลิกใช้ OPD Card และแพทย์บันทึกข้อมูลการรักษาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% จริง ๆ
พญ.ฤทัย กล่าวต่อไปว่า แนวทางการนำเทคโนโลยีมาใช้จะนำระบบงานมาวิเคราะห์ดู หากขั้นตอนไหนที่ไม่เกิดคุณค่า ไม่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาก็ไม่ต้องเสียเวลาไปทำ ซึ่งจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาทำแทนสามารถลดขั้นตอนการทำงานได้ถึง 70% เมื่อขั้นตอนหายไป ประชาชนไม่ต้องเสียเวลารอคอย และสิ่งที่หายไปก็นำมาสร้างเป็นคุณค่าเพิ่ม เช่น เมื่อไม่ต้องมีห้องเก็บเวชระเบียนแล้ว ก็สามารถเอาห้องมาดูแลผู้ป่วยได้อีก เป็นต้น
"ถ้าสรุปเป็น Wording ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลมาก็สามารถเป็น Self Check-In เมื่อพบแพทย์แล้วก็สามารถ Self Payment รับยาแล้วกลับบ้านได้เลย" พญ.ฤทัย กล่าว
ทั้งนี้หากให้บรรยายภาพของ Smart Hospital ของโรงพยาบาลสมุทรปราการโดยมีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง คนไข้สามารถรับบริการได้ตั้งแต่ในโทรศัพท์มือถือเพื่อเรียกดูข้อมูลสุขภาพของตัวเองและไม่มีใครสามารถเข้าไปดูได้เพราะใช้เทคโนโลยี Block Chain ซึ่งมีความปลอดภัยสูง
ขณะเดียวกัน หากคนไข้พบว่าข้อมูลสุขภาพตัวเองเปลี่ยนแปลงหรือต้องการรับบริการทางการแพทย์ ก็สามารถไปใช้บริการที่ รพ.สต.ใกล้บ้านซึ่งจะมีระบบ Tele Medicine รองรับ สามารถคุยกับแพทย์ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการได้เลย แพทย์สามารถเห็นและพูดคุยตรวจคนไข้ผ่านจอ แล้วสั่งยาและนำส่งยาให้จากโรงพยาบาลโดยที่คนไข้ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล ยกเว้นต้องรับการผ่าตัดหรือการรักษาโรครุนแรงที่ รพ.สต. ทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ จะสะดวกกับคนไข้เป็นอย่างมาก หรือแม้แต่ในกรณีเร่งด่วน เช่น เจ็บหน้าอกต้องให้ยา แต่เนื่องจากมีรถติดกว่าจะมาถึงโรงพยาบาลคนไข้อาจเสียชีวิตไปก่อน ก็สามารถแวะ รพ.สต. เพื่อปรึกษาแพทย์ผ่านระบบ Tele Medicine แพทย์จะให้คำแนะนำในการใช้ยาบรรเทาอาการเพื่อรอระยะเวลาการส่งต่อมาโรงพยาบาลได้
เมื่อมาถึงโรงพยาบาล สำหรับคนไข้ที่มีประวัติอยู่แล้วก็สามารถถือบัตรประชาชนเดินไปที่ห้องตรวจเลย ไม่ต้องมาทำบัตรที่ห้องเวชระเบียนกลาง นอกจากนี้ยังมีการนำหุ่นยนต์ AI Chatbot ในการช่วยคัดกรองเพื่อช่วยพยาบาลอีกด้วย
"ผู้ป่วยนอกวันละ 3,200 คน เรามีพยาบาลคัดกรองเบื้องต้นแค่ 2 คน มันทำไม่ทัน เราเลยใช้ AI Chatbot เข้ามาช่วย AI ก็จะถามว่าเป็นอะไรมา แล้วก็จะบอกว่าไปห้องตรวจนี้นะ บอกขั้นตอนให้ว่าเดินไปแบบนี้ ๆ และถ้าเป็นคนไข้มาวัดความดัน ก็จะมีเครื่องมือให้ลงทะเบียนด้วยตัวเองแล้วเอาแขนสอดวัดความดันได้เลย เครื่องก็จะบอกค่าต่าง ๆ คำนวณออกมา BMI แล้วบันทึกเข้าประวัติคนไข้แบบอิเล็กทรอนิกส์เลย" พญ.ฤทัย กล่าว
ในส่วนของขั้นตอนการรอตรวจนั้น ค่าเฉลี่ยคนไข้ในการพบแพทย์ใช้เวลา 6 นาที โรงพยาบาลจึงเพิ่มเวลาให้พบแพทย์ 8 นาที แล้วปรับระยะเวลารอพบแพทย์เป็น 8 นาทีด้วย ซึ่งจะทำให้ Flow ของคนไข้เลื่อนไหล ทำให้อัตราการรอคอยลดลงโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับการนัดผู้ป่วยก็จะนัดตามที่แพทย์รับได้ เพราะบางโรคต้องตรวจละเอียด ใช้ระยะเวลานาน บางโรคตรวจเร็วใช้เวลาสั้น อยู่ที่แพทย์ว่าในช่วง 3 ชั่วโมงนี้ตรวจคนไข้ได้กี่ราย โรงพยาบาลก็จะนัดคนไข้ตามจำนวนที่แพทย์รองรับได้
ทั้งนี้เมื่อตรวจวินิจฉัยเสร็จแล้ว แพทย์ก็จะสั่งยาทางระบบคอมพิวเตอร์ โอกาสเกิดความผิดพลาดจากการอ่านลายมือแพทย์ก็ลดลง
"แต่เดิมเวลาแพทย์เขียนใบสั่งยา พยาบาลก็ต้องมาลอกลายมือแพทย์แล้วส่งไปให้เภสัชกร มันก็มีโอกาสอ่านลายมือผิด และในอนาคตเราจะติดตั้งหุ่นยนต์จัดยาให้ผู้ป่วยนอกด้วย พอแพทย์บันทึกข้อมูลปุ๊ปหุ่นยนต์จัดยาให้ปั๊ป ผู้ป่วยก็ไปรับยาโดยมีเภสัชกรแนะนำ ส่วนผู้ป่วยใน ตอนนี้เราใช้หุ่นยนต์จัดยาแล้ว พยาบาลไม่ต้องมานั่งอ่านลายมือแพทย์ ทำให้มีเวลาดูแลคนไข้มากขึ้นอีกวันละ 1 ชั่วโมง" พญ.ฤทัย กล่าว
ในส่วนของข้อมูลการรักษาเอง แพทย์ก็จะบันทึกข้อมูลผ่านโดยใช้เทคโนโลยี Block Chain ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็น Electronic medical records เชื่อมโยงกันทั้งจังหวัด ถ้าไปป่วยที่โรงพยาบาลบางบ่อ แพทย์ก็สามารถดูข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยรายนั้นได้ที่โรงพยาบาลบางบ่อเลย หรือถ้ามีการส่งต่อคนไข้มารักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการก็สามารถเรียกดูข้อมูลที่ส่งมาจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ได้เลยว่ารักษาอะไรไปบ้าง ทำให้ข้อมูลสุขภาพไม่ตกหล่น ผู้ป่วยก็ได้รับการรักษารวดเร็วมากขึ้น
"สมัยก่อนเวลาส่งต่อผู้ป่วยต้องเขียนใบส่งต่อ แพทย์ก็จะเลือกเขียนข้อมูลเฉพาะที่อยากจะเขียน แต่มันอาจหลุดข้อมูลที่แพทย์อีกฝั่งหนึ่งอยากเห็นก็ได้ แต่ด้วยระบบนี้สามารถส่งต่อข้อมูลได้หมดทุกอย่าง ทำให้แพทย์ที่รับส่งต่อสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการบันทึกข้อมูลการรักษาโดยใช้เทคโนโลยี Block Chain นี้ ทางองค์การสหประชาชาติเพิ่งมาดูงานเราเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา เขาบอกว่าโรงพยาบาลเราเป็นแห่งแรกของโลกที่ใช้ Block Chain in Health ก็เลยมาดูว่าทำได้อย่างไรเพราะปกติ Block Chain ใช้ในด้านการเงินการธนาคาร แต่ทีมงานของเราพร้อมด้วยพันธมิตรร่วมมือกันพัฒนา ทำให้เราต่อยอดได้เยอะมาก พอระบบมี Security สูง มันก็ต่อยอดทำอะไรได้ง่าย" พญ.ฤทัย กล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการวางระบบ Block Chain เพื่อบันทึกข้อมูลการรักษาต่าง ๆ นี้ การดีไซน์ระบบจะมองภาพทั้งจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะแค่โรงพยาบาลสมุทรปราการเพียงแห่งเดียว ถ้าทำแค่โรงพยาบาลสมุทรปราการเพียงแห่งเดียวจะมีประโยชน์น้อยมาก ต้องวางระบบในทุกอำเภอเพราะทางอำเภอก็ต้องส่งคนไข้ให้โรงพยาบาลจังหวัด และเหตุผลอีกประการคือยิ่งทำให้ใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งได้ Big Data เพื่อมาออกแบบงานมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเร็ว ๆ นี้โรงพยาบาลก็จะเชื่อมไปที่โรงพยาบาลราชวิถีอีกแห่ง แต่ยังต้องใช้เวลาในการปรับแพล็ทฟอร์มกันอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ หลังจากขั้นตอนการสั่งจ่ายยาแล้ว ผู้ป่วยสามารถเดินไปที่เครื่องจ่ายเงินเพื่อชำระค่าบริการได้เลยทั้งเงินสดและบัตรเครดิต โดยระบบนี้ได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยติดตั้งไว้ทั้งหมด 5 เครื่อง ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวจ่ายเงิน ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีก็จ่ายเงินเสร็จเรียบร้อย ทำให้ระยะเวลาการใช้บริการน้อยลงไปอีก
ขณะเดียวกัน นอกจากนำเทคโนโลยีมาใช้กับการบริการแล้ว โรงพยาบาลสมุทรปราการยังใช้เทคโนโลยีกับการสต๊อกครุภัณฑ์ ทำให้มีเงินไหลเวียนในระบบมากกว่า 20-30 ล้านบาท เมื่อมีเงินหมุนเวียน การซื้อยาหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ทำได้ในราคาที่ถูกลง
พญ.ฤทัย กล่าวสรุปว่า ผลสัมฤทธิ์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ นอกจากลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยแล้ว ยังเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนที่อยู่ห่างไกล ช่วยให้มีทางเลือกในการเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีโครงการที่รอดำเนินการอีกหลายโครงการ หากทำได้ตามที่วางแผนไว้ทั้งหมด ภายใน 1-2 ปีนี้ ผู้ป่วยนอกจะใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น
"ตอนนี้ก็กำลังท้าทายทีมงานไว้ว่า 8:8:8 คือ 8 นาทีก่อนพบแพทย์ 8 นาทีพบแพทย์ และ 8 นาทีหลังพบแพทย์ นี่คือสิ่งที่ท้าทายทีมงานเอาไว้" พญ.ฤทัย กล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ กล่าวทิ้งท้ายว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อเป็น Smart Hospital นี้ ความยากอยู่ที่ผู้นำสูงสุดต้องเปิดใจ ทำความเข้าใจกับเทคโนโลยี ต้องกล้าที่จะลงทุนและตัดสินใจ ประการต่อมาคือต้องประเมินสมรรถนะของทีมไอที เพราะทีมของแต่ละโรงพยาบาลไม่เหมือนกัน แต่ถ้าจับกลุ่มเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือกันก็จะช่วยให้เดินไปข้างหน้าได้และทางโรงพยาบาลสมุทรปราการก็ยินดีเป็นพี่เลี้ยงให้
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการคือความยั่งยืนของภาครัฐจะเกิดได้ถ้าได้รับความร่วมมือจากประชาชนและภาคเอกชน ขณะนี้โรงพยาบาลมีมากกว่า 20 โครงการที่ร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนพัฒนาการบริการ ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าถ้ารัฐทำคนเดียวมันไปต่อไม่ได้ แต่ถ้ามีประชาชนหรือเอกชนมาช่วยแนะนำ ระบบก็จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
- 3368 views