ขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ อบรมแท็กซี่สาธารณะ ให้บริการคนพิการ-ผู้สูงอายุ ให้มีมาตรฐาน ดูแลอย่างเหมาะสม พร้อมเสนอกรมขนส่งทางบกบรรจุในหลักสูตรอบรมแท็กซี่ แนะแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ควรเพิ่มฟังก์ชั่นสำหรับคนพิการสามารถเรียกแท็กซี่ที่ผ่านการอบรมได้ง่ายขึ้น
วันที่ 31 มกราคม 2563 ที่สภาคริสตจักรในประเทศไทย (สะพานหัวช้าง) นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “อนาคตการบริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นเพื่อคนทุกกลุ่ม” ว่า ปัจจุบัน ประชาชนสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว เชื่อมต่อได้ง่ายมากขึ้น และมีช่องทางอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ในหลายรูปแบบ แต่อย่างไรก็ตามจากจำนวนคนพิการ 1.8 ล้านคน และผู้สูงอายุจำนวน 12 ล้านคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนพิการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกว่า 1.2 แสนคน ยังเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป เช่น รถประจำทาง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว จึงจำเป็นต้องใช้บริการรถแท็กซี่ แต่ผู้ขับแท็กซี่จำนวนมากยังขาดความเข้าใจในการให้บริการกับคนพิการ และผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะคนพิการที่ใช้วีลแชร์ในการเดินทาง ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ เช่น การพยุง การอุ้ม การพับเก็บวีลแชร์ เป็นต้น
ดังนั้น สสส. จึงสนับสนุนภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) ในการจัดอบรมให้ความรู้ผู้ขับแท็กซี่สาธารณะในช่วงที่ผ่านมา 4 รุ่น จำนวน 184 คน โดยให้ความรู้เบื้องต้นในการให้บริการคนพิการ ตั้งแต่สร้างความเข้าใจ และรู้จักลักษณะของคนพิการประเภทต่าง ๆ การให้ความช่วยเหลือและบริการคนพิการในการใช้แท็กซี่อย่างถูกต้องเหมาะสม และเตรียมเสนอผลักดันให้หลักสูตรการอบรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการอบรมผู้ขับแท็กซี่ของกรมการขนส่งทางบกด้วย รวมถึงการอบรมแท็กซี่ของหน่วยงาน และภาคเอกชนที่ให้บริการ ก็จะเสนอให้มีเนื้อหาส่วนนี้ในการอบรมด้วย นอกจากนี้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ที่ปัจจุบันมีประมาณ 6 รายใหญ่ๆ ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ควรเพิ่มฟังก์ชั่นสำหรับคนพิการสามารถเรียกแท็กซี่ที่ผ่านการอบรม หรือสามารถให้บริการคนพิการ ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมเพิ่มเติมขึ้นด้วย
ด้านนายสว่าง ศรีสม ผู้แทนเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถโดยสารสาธารณะ แม้ว่าปัจจุบันจะมีรถเมล์ชานต่ำจำนวนกว่า 500 คันวิ่งให้บริการแล้ว แต่ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากมีให้บริการเพียงบางสาย จากทั้งหมด 113 สาย ใน 8 เขตการเดินรถ นอกจากนี้ รถไฟฟ้ายังมีไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ บางสถานียังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก มากกว่าร้อยละ 50 ของสถานีมีลิฟต์ไม่ครบทุกทางเข้าออกที่จำเป็น เป็นต้น ดังนั้น แท็กซี่จึงเป็นตัวเลือกที่สำคัญสำหรับคนพิการในการเดินทาง แต่คนพิการก็มักประสบปัญหาในการใช้งานรถแท็กซี่ เช่น วิธีการให้บริการที่ไม่เหมาะสม ไม่มีอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวก การสนทนาที่ไม่สร้างสรรค์ระหว่างคนขับและผู้โดยสารพิการ เช่น ปฏิเสธการรับคนพิการอย่างสิ้นเชิงหรือไม่เต็มใจให้บริการ รถแท็กซี่มีถังแก๊ส ทำให้ไม่สามารถพับเก็บรถวีลแชร์ไปได้, ไม่มีสายรัดวีลแชร์ ไม่รู้วิธีพับเก็บรถวีลแชร์ที่ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้รถเข็นเสียหายได้ ไม่รู้วิธีช่วยพยุงหรืออุ้มคนพิการ ผู้สูงอายุที่ถูกต้องเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บของคนพิการ และตัวผู้ขับแท็กซี่เอง เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดบรรยากาศที่กระอักกระอ่วนใจทั้ง 2 ฝ่าย ไม่รับคนหูหนวกเนื่องจากไม่สามารถสื่อสารกันได้ เป็นต้น
“การบริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นเพื่อคนทุกกลุ่ม จะช่วยให้คนพิการสามารถใช้รถแท็กซี่ในการเดินทางได้สะดวก ปลอดภัยและสบายใจมากยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การสร้างความตระหนักรู้ด้านการให้บริการแก่คนพิการผู้สูงอายุ และเพื่อสื่อสารสังคมในประเด็นการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะแก่ผู้ให้บริการรถแท็กซี่สาธารณะผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งจะช่วยให้เกิดบริการในระบบขนส่งที่รับผิดชอบต่อสังคมของคนพิการและผู้สูงอายุ” นายสว่าง กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ที่มีฟังก์ชั้น สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ อาทิ GRAB TAXI , THAIDEE APPLICATION เป็นต้น ข้อมูลเพิ่มเติม คุณศุภวัฒน์ โทร.0873536433
- 133 views