สสส.ดัน “ผู้พิทักษ์” คุ้มครองผู้สูงอายุ เป็นของขวัญวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เร่งพัฒนากลไกเฝ้าระวังผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิครอบคลุมทุกพื้นที่ หลังวิจัยพบผู้สูงอายุไทยถูกละเมิดสิทธิ์ เผชิญความรุนแรงทางจิตใจมากสุด ถูกทอดทิ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อึ้งส่วนใหญ่ลูกหลานคนใกล้ชิดหลอกลวง
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ภายใต้ธีม “ก้ม กราบ กอด: สังคมผู้สูงอายุไร้ความรุนแรง” แต่กลับพบว่าสถานการณ์ความรุนแรงและละเมิดสิทธิผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากสํานักงานตํารวจแห่งชาติ คดีอาญาตั้งแต่ปี 2544-2558 พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงทรัพย์สิน ลักทรัพย์และปล้นทรัพย์ เพิ่มขึ้นเป็นลําดับ จากปี 2548 มี จํานวนผู้เสียหาย 73 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 243 รายในปี 2549 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2558 มีผู้เสียหายจํานวน 703 ราย สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมากคือผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลาน หรือไม่มีครอบครัว มีความเจ็บป่วย ต้องการพึ่งพาผู้อื่น ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มที่
สสส.ได้สนับสนุนมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุใน 6 ประเด็นสำคัญโดยมีข้อค้นพบในการพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย และการดูแลทรัพย์สินของผู้สูงอายุ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะหนุนเสริมการดูแล พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ รวมทั้งได้ข้อเสนอแนวทางดำเนินการคุ้มครอง พิทักษ์ผู้สูงอายุโดยการพัฒนากลไกเฝ้าระวังผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือกลุ่มเสี่ยงอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ การสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมคนทุกกลุ่มวัย ตลอดจนชมรมผู้สูงอายุ สร้างความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพ ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมผู้สูงอายุ ภายใต้มาตรการการสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่ง กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ
“สสส.และภาคีเครือข่าย ได้เสนอข้อมูลและข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นของขวัญให้ผู้สูงอายุและรองรับสังคมสูงอายุของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคมในประเด็นสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ เพื่อช่วยกันสอดส่อง ดูแล และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบการกระทำความรุนแรง และละเมิดสิทธิผู้สูงอายุให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างและภัย มีศักดิ์ศรี เป็นพลังให้สังคม” นางภรณีกล่าว
รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา
รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา อาจารย์ประจำคณะพยายาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุในบริบทของสังคมไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2559 พบว่า ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุ ที่พบมากที่สุดยังคงเป็นเรื่องการกระทำรุนแรงทางด้านจิตใจ รองลงมาคือ การทอดทิ้งละเลย ไม่ดูแล หรือให้การดูแลไม่เหมาะสม ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ตามด้วยการเอาประโยชน์ด้านทรัพย์สินเงินทอง หลอกลวง ในส่วนการถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจ พบบ่อยที่สุดในชุมชน เพราะกระทบกระทั่ง สื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน ปัญหาสัมพันธภาพระหว่างผู้สูงอายุและบุตรหลาน หรือบุคคลในครอบครัวทำให้ผู้สูงอายุเสียใจ น้อยใจ โกรธ โมโห เนื่องจากผู้สูงอายุรู้สึกหรือรับรู้ว่าบุตรหลานไม่เชื่อฟัง พูดไม่ดี บ่น เถียง ด่า หรือไม่ได้ดั่งใจ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกตนเองด้อยค่า เป็นภาระกับลูกหลาน รวมไปถึงการมีปฏิกริยาโต้ตอบ มีปากเสียง ทะเลาะกัน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงด้านอื่น เช่น การการทอดทิ้ง การที่ผู้สูงอายุอยู่กับครอบครัวไม่ได้ ไปจนถึงการทำร้ายทางร่างกาย
รศ.ดร.จิราพร กล่าวอีกว่า สำหรับการทอดทิ้งละเลย การดูแลไม่เหมาะสม หรืออยู่ตัวคนเดียวไม่มีผู้ดูแล มีแนวโน้มที่จะรุนแรงและเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีภาวะสมองเสื่อม หรือการขาดผู้ดูแลหรือครอบครัวไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ ส่วนการกระทำรุนแรงโดยการเอาประโยชน์ด้านทรัพย์สินของผู้สูงอายุ มีตั้งแต่การให้ผู้สูงอายุยกทรัพย์สินให้ เมื่อได้ทรัพย์สมบัติแล้วก็ทอดทิ้งไม่ดูแล จนไปถึงการข่มขู่เอาทรัพย์สินจากผู้สูงอายุ หรือการหลอกลวงให้ผู้สูงอายุทำธุรกรรมการเงิน ให้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินและเชิดหนี ทิ้งให้ผู้สูงอายุต้องรับภาระชดใช้หนี้แทน ส่วนใหญ่เป็นการกระทำจากบุคคลใกล้ชิด ได้แก่ บุตรหลาน บุคคลในครอบครัว หรือคนที่คุ้นเคยรู้จักกับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังพบผู้สูงอายุที่ถูกกระทำความรุนแรงทางด้านร่างกาย ได้แก่ การทุบตี ชกต่อย การทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวที่ เมาสุรา ติดสารเสพติด หรือมีปัญหาสุขภาพจิต ที่น่าตกใจคือพบผู้สูงอายุหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศ โดยผู้กระทำความรุนแรงมีทั้งบุคคลในครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ หลาน รวมทั้งเกิดจากบุคคลนอกครอบครัว ผู้ก่อเหตุแทบทุกรายให้เหตุผลว่า เมาสุราหรือสารเสพติด และเห็นว่าผู้สูงอายุหญิงอยู่ตัวคนเดียวไม่สามารถป้องกันตนเองได้ ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่จะเลือกลงมือกระทำต่อเหยื่อซึ่งอ่อนแอ หรือไม่กล้ามีปากมีเสียง
รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ หรือเรื่องส่วนตัว ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุยังมีการปกปิดซ่อนเร้นอีกจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหญิงมีความเสี่ยงต่อการได้รับความรุนแรงจากคู่สมรส แต่ไม่เปิดเผยว่าได้รับความรุนแรงหรือคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความรุนแรง เช่น คำพูดที่ทำให้รู้สึกด้อยค่า ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่เปิดเผยว่าได้รับความรุนแรงจากครอบครัว เพราะอายและไม่ต้องการให้เกิดปัญหากับลูกหลาน ครอบครัว ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยเฉพาะด้านสวัสดิการและการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุหญิงสามารถทำงานมีรายได้เป็นของตัวเอง เข้าใจธุรกรรมการเงินที่ตนเองทำ และพิจารณาปัจจัยแวดล้อมเฉพาะราย เช่น ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว ผู้สูงอายุยากจนเลี้ยงลูกตามลำพังครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว
- 252 views