แพทย์พม่าประทับใจระบบอีรีเฟอร์รอล ลดภาระงานโรงพยาบาล ช่วยคนไข้สะดวก แพทย์แอฟริกาใต้เผยกำลังพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามรอยไทย ด้านแพทย์อินโดฯ ชมระบบหลักประกันสุขภาพไทยพัฒนาต่อเนื่องคงเส้นคงวา ระบุติดตามพัฒนาการมาตั้งแต่เริ่มโครงการ แม้จะเปลี่ยนกี่รัฐบาลก็ยังก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 30 มกราคม 2563 ที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้เข้าร่วมประชุมการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2563 จำนวนกว่า 30 คนจากหลากหลายประเทศเดินทางไปศึกษาดูงาน แหล่งดูงานที่ 5 ด้านการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิที่มีเครือข่ายผู้ให้บริการทางสุขภาพที่เป็นคลินิกเอกชนร่วมทำงานเป็นเครือข่ายเดียวกันกับโรงพยาบาลรัฐ การดำเนินการระบบการส่งต่อผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Referral) และการใช้แอปพลิเคชันมือถือ BAH Connect เพิ่มความสะดวกแก่คนไข้ ในการเชื่อมโยงข้อมูลส่วนตัว การนัดหมายกับสถานพยาบาล และการส่งต่อในเครือข่าย
นายแพทย์ โบวี่ มาง เลียน (Dr.Bowi Mang Lian) จากหน่วยติดตามการดำเนินงานแผนงานสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ประเทศพม่า กล่าวว่า สิ่งที่ประทับใจที่สุดในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยคือ การที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยมีความเชื่อมั่นตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะให้การดูแลสุขภาพของประชาชนไทยทุก ๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการการรักษพยาบาลข้าราชการได้ และก็พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้จริง ๆ
สำหรับการพัฒนาระบบเครือข่ายการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิที่เกิดมาจากการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างโรงพยาบาลที่ให้บริการในระดับตติยภูมิอย่างโรงพยาบาลภูมิพลฯ และสถานพยาบาลปฐมภูมิต่าง ๆ ในเครือข่าย ก็เป็นสิ่งที่น่าประทับใจอย่างมากเช่นกัน เพราะถ้าหากว่าไม่สามารถสร้างระบบแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันนี้ได้ตั้งแต่ต้นแล้ว การพัฒนาเครือข่ายนี้ไม่มีทางจะสำเร็จได้เลย อีกทั้งพบว่าระบบเครือข่ายฯ นี้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมารอคิวพบแพทย์ที่โรงพยาบาลลงไปได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ และยิ่งเมื่อมีการนำระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์และนำแอปพลิเคชันมือถือมาประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ยิ่งพบว่าเป็นประโยชน์ ต่อทั้งตัวโรงพยาบาลเองที่สามารถลดภาระงานของบุคลากรได้ด้วยการลดทอนภาระทางงานเอกสาร ขณะที่คนไข้ก็สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล ๆ และเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ส่วนคลินิกในเครือข่ายก็ได้ประโยชน์จากระบบการส่งตัวแบบไม่ต้องใช้กระดาษนี้อย่างมากเช่นกัน
“นับว่าเป็นความสำเร็จในการสร้างการสื่อสาร 2 ทาง จริง ๆ แล้วก็ 3 ทางด้วยซ้ำไป ทั้งโรงพยาบาล คนไข้ และคลินิก ในเครือข่าย” นายแพทย์ โบวี่ มาง เลียน กล่าว และว่าหากระบบการส่งต่อแบบอีรีเฟอร์รอลนี้สามารถดำเนินการได้ทั้งระบบทั่วประเทศจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในงานและความสะดวกสบายกับทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง
“ประเทศพม่าก็อยากจะพัฒนาระบบการส่งต่อให้ประสบความสำเร็จแบบนี้เช่นกัน แต่ด้วยยังไม่พร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ก็อาจจะเริ่มจากการนำแบบอย่างเครือข่ายฯ จากประเทศไทยไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในการส่งต่อผู้ป่วยของตัวเอง โดยจะทำในลักษณะที่ใช้เอกสารที่เป็นกระดาษไปก่อน” นายแพทย์ โบวี่ มาง เลียน กล่าว
ด้านนายแพทย์ โทบิล มเบนกาชี (Dr.Thobile Mbengashe) จากกรมอนามัย ของจังหวัดอีสเทิร์นเคป ประเทศแอฟริกาใต้ ระบุว่า การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ๆ สำหรับตน และถือว่าประเทศไทยเป็นตัวอย่างสำคัญในการไปให้ถึงจุดหมายเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย
“การที่ประเทศไทยสามารถทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ครอบคลุมประชากรเป้าหมายได้ถึง 99% เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก ๆ และยิ่งไปกว่านั้นการที่ประเทศไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเพียงระดับกลางสามารถสร้างผลลัพธ์ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ดีกว่าอีกหลายประเทศที่มีรายได้เยอะกว่าก็น่าทึ่งมากด้วยเช่นกัน” นายแพทย์ โทบิล กล่าว
ความสำเร็จนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สุงสุดได้ในด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังจะดูได้จากที่ว่าประเทศไทยใช้งบประมาณด้านนี้คิดเป็นเพียงแค่ 4% ของจีดีพีเท่านั้น ทว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นสูงทั้งในด้าน คุณภาพของบริการ การเข้าถึงบริการ และอายุคาดเฉลี่ยของประชากร
“นับตั้งแต่เริ่มต้นมาในปี พ.ศ.2545 ประเทศไทยได้สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาด้วยความพยายามและการทำงานหนักและไม่ย่อท้อ เหมือนการสร้างบ้านด้วยอิฐทีละก้อน ๆ จนมาถึงวันนี้ได้” นายแพทย์ โทบิล กล่าว และว่า แอฟริกาใต้มีประชากรราว 56 ล้านคนและกำลังอยู่ในขั้นพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้ได้เหมือนอย่างของประเทศไทยเช่นกัน
ขณะที่นายแพทย์ฮัสบูลละห์ ทาบรานี่ (Dr Hasbullah Thabrany) จากโครงการกิจกรรมการคลังสุขภาพ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ตนได้ติดตามพัฒนาการเรื่องการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงเห็นมาโดยตลอดถึงความมีสเถียรภาพของงาน และมีความคงเส้นคงวามาโดยตลอด ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไรก็ตาม
“ทุกปีที่มีการจัดการประชุม มีคนมาร่วมจากทั่วโลก ประเทศไทยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของโครงการฯ โดยตลอด และมีนวัฒกรรมใหม่ ๆ ออกมาให้เห็นในทุก ๆ ปี จุดนี้คือเรื่องที่น่าทึ่ง เพราะเป็นเหมือนการให้คำมั่นไม่ใช่เฉพาะกับคนไทยแต่กับคนทั่วโลก ว่าระบบนี้จะพัฒนาต่อไปไม่หยุด ” นายแพทย์ฮัสบูลละห์ กล่าว
พลอากาศตรี ทวีพงษ์ ปาจรีย์
พลอากาศตรี ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนายการโรงพยาบาลภูมิพลฯ กล่าวว่าระบบเครือข่ายดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิช่วยให้โรงพยาบาลสามารถลดความคับคั่งของจำนวนคนไข้ที่แผนกผู้ป่วยนอกได้ จากเดิมวันละราว 600 คน ลดมาเหลือเพียงประมาณ 80 คนต่อวันโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน ขณะที่ระบบอีรีเฟอร์รอลช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นในส่วนของคนไข้ ซึ่งลดได้มากถึง 10 ล้านบาทต่อปี เมื่อคำนวณจากจำนวนการส่งต่อในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด 1 ล้านครั้งในแต่ปีคูณด้วยค่าเดินทางคิดเป็นคนละ 100 บาทต่อครั้ง อีกทั้งยังประหยัดเวลาในการรอขั้นตอนทางเอกสารที่คิดรวม ๆ กันแล้วนับได้มากถึง 13.13 ปี ในแต่ละปี เมื่อคำนวณจากเวลาที่แต่ละคนต้องรอโดยเฉลี่ย 77 นาทีต่อครั้ง
- 36 views