รมว.สธ.หารือแนวทางความร่วมมือจัดบริการประชาชนใน กทม. ด้วยความร่วมมือระหว่าง สธ. สปสช. และกรุงเทพมหานคร นวัตกรรมส่งต่อผู้ป่วยด้วยระบบ e-Referral system ตั้งคณะกรรมการร่วม สปสช.และ กทม.ระดับเขตสุขภาพ พร้อมดึง กทม.เข้าเป็นคณะกรรมการร่วมระดับส่วนกลาง เพื่อให้การทำงานเป็นเนื้อเดียวกันในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ติดตามการจัดบริการแบบเครือข่ายของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 56 ทับเจริญ เขตบึงกุ่ม, ศิริพัฒน์สหคลินิก เขตสายไหม และ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายภาครัฐ สังกัดกองทัพอากาศที่ร่วมให้บริการประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สปสช.และกรุงเทพมหานคร ในการดูแลสุขภาพประชาชน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการรับฟังนโยบายการทำงานของ กทม. พบว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขกับ กทม.มีความคล้ายคลึงกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ 4ด้านคือ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบบริการ การพัฒนาคนและระบบบริหารจัดการ ซึ่งจะได้เพิ่มการทำงานร่วมกับ กทม. ดังนี้
1.ตั้งคณะกรรมการระดับเขตสุขภาพระหว่าง สปสช.กับ กทม.เช่นเดียวกับ12 เขตสุขภาพ รวมทั้งให้ กทม. เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการส่วนกลางร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สปสช.และภาคีเครือข่ายสุขภาพ
2.การพัฒนาระบบบริการ ระบบการส่งต่อ การจัดการข้อมูล การบริหารจัดการ ให้เป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น ซึ่ง กทม. เป็นพื้นที่พิเศษดูแลประชาชนจำนวนมากด้วยศักยภาพ เครือข่าย เทคโนโลยีที่มีอยู่ สามารถสร้างนวตกรรม การจัดระบบบริการประชาชน ให้มีลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถเป็นตัวอย่างให้เขตสุขภาพอื่นต่อไป ด้วยความสนับสนุนของ กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.
จากการตรวจเยี่ยมในวันนี้พบว่า หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. มีการจัดบริการผู้ป่วยแบบเครือข่าย ระหว่างภาครัฐ เอกชน และ กทม. (Public Private Partnership) ช่วยแก้ไขปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการยกระดับบริการด้านสาธารณสุข ให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ สะดวก ลดความเหลื่อมล้ำ โดยในการจัดเครือข่ายบริการตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดโรงพยาบาลใหญ่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ มีคลินิกเอกชนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านหรือที่เรียกว่าคลินิกชุมชนอบอุ่น ทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย กทม.ทั้ง 68 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขตของกทม. ให้การดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน และการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันการเจ็บป่วย
นอกจากนี้ เครือข่ายบริการ กทม. ได้มีการพัฒนาระบบบริการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เกิดนวัตกรรมในการบริการผู้ป่วย เช่น เครือข่ายบริการโรงพยาบาลภูมิพล สปสช. และภาคีเครือข่าย ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอิเลคทรอนิกส์ หรืออีรีเฟอร์รัล (e-Referral system) นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการส่งต่อข้อมูลดูแลรักษาผู้ป่วยระหว่างคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลแม่ข่าย ช่วยให้แพทย์ผู้รักษาเห็นข้อมูลการรักษาของคลินิกชุมชนอบอุ่นในเครือข่าย 26 แห่ง นำมาวางแผนการดูแลรักษาต่อ และส่งข้อมูลกลับไป ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว ได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เตรียมขยายระบบไปยัง รพ.นพรัตน์ราชธานี รพ.ตากสิน และ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าในเร็วๆ นี้ และ สปสช.จะขยายครอบคลุมไปยัง รพ.อื่นๆ ใน กทม. รวมทั้งเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยใน การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่อไป
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า e-Referral system เป็นระบบที่พัฒนาเพื่อปรับปรุงแก้ปัญหาความไม่สะดวกและความไม่มั่นใจของประชาชนที่ถูกกระจายประชากรไปอยู่ที่คลินิกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุขตามโครงการลดความแออัดในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชตั้งแต่ปี 2549 การพัฒนาระบบดังกล่าวอยู่ภายใต้การบริหารระบบของ อปสข. กทม. รวมถึงคณะทำงานพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในเขตกรุงเทพมหานคร และคณะทำงานกองทุนสาขากรุงเทพมหานคร แต่ทั้งนี้ e-Referral system ยังต้องมีการพัฒนาต่อยอดให้ครอบคลุมพื้นที่ครอบคลุมทุกเครือข่ายให้มากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) แผนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ
"ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่ง กทม.มีความซับซ้อนมาก แต่ระบบนี้ช่วยให้ผู้ป่วยส่งตอจากคลินิกเข้าถึงบริการยังโรงพยาบาลได้รวดเร็ว ประหยัดเวลา ถือเป็นความร่วมมืออันดีระหว่าง รพ.ภูมิพล กทม. เนคเทค และ สปสช. ตลอดจนเครือข่ายบริการคลินิกเอกชน" รักษาการเลขาธิการ สปสช.กล่าว
- 418 views