“สาธิต” รู้ซึ้งหลังป่วย “ชิคุนกุนยา” ประกาศสงครามไล่ทุบยุงลาย พร้อมกัน 10 ม.ค.63 ด้าน กรมควบคุมโรครับปี 62 คนป่วย-ตายจากไข้เลือดออกผิดคาดไปเยอะ ล่าสุดมีผู้ป่วย 1.1 แสนราย เสียชีวิตแล้วกว่า 140 ราย วอนประชาชนเก็บบ้าน เก็บขยะ แหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ยุง ว่า จากการพิจารณาร่วมกันแล้วว่าเนื่องจากเข้าสู่หน้าแล้ง ไม่มีฝนตกลงมาแล้ว ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่เราจะร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา และไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายยังมีปัญหาอยู่โดยเฉพาะในส่วนของการเข้าไปฉีดพ่นยาในบ้าน ในที่ส่วนบุคคล ประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นในปีนี้เราจึงต้องมีการรณรงค์ ปลุกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องเพิ่มเติมจากมาตรการที่บุคลากร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการอยู่โดยจะใช้การจัดกิจกรรมวิ่งไล่ยุง ในวันที่ 10 ม.ค. 2563 เป็นจุดเริ่มต้น
"เนื่องจากผมเจ็บป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยา ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อจากยุงลาย ผมเข้าใจถึงคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ พอสัมผัสด้วยตัวเองก็รู้แล้วว่าทรมานแค่ไหน ยิ่งตนเองป่วยเองยิ่งต้องทำการรณรงค์มากยิ่งขึ้นเพื่อให้สังคมเห็นถึงอันตรายจากยุงลาย และผมเองเป็นคนออกกำลังกายอยู่แล้วจึงมองว่าน่าจะนำมาส่งเสริมการวิ่งไล่ยุงเป็นการรณรงค์ครั้งใหญ่" นายสาธิต กล่าว
ด้าน นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดกิจกรรมจะเริ่มในวันที่ 10 ม.ค.2563 เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป กลุ่มเป้าหมายจำนวน 3,000 คน แบ่งเป็น กลุ่มเจ้าหน้าที่ ประมาณ 2,000 คน กลุ่มนักวิ่งประจำ นักวิ่งอาชีพ ประมาณ 1,000 คน จะมีทั้งการเดิน วิ่งระยะทาง ประมาณ 5 กิโลเมตร ตั้งแต่พื้นที่กระทรวงสาธารณสุขเรื่อยไปจนถึงโรงพยาบาลศรีธัญญา โดยจะทำการเดิน วิ่งพร้อมกับการสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งต้องเรียนว่าทุกพื้นที่ สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นถ้วย ชาม กะละมัง แม้แต่แจกันดอก จานรองขาตู้กับข้าว ที่มีน้ำขังอยู่ หรือ แม้กระทั่ง ขยะ ถุงพลาสติก บริเวณที่มีการมัดปากถุงเล็ก ๆ หากมีน้ำขังก็สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราต้องเก็บบ้าน เก็บขยะให้สะอาด ปราศจากลูกน้ำยุงลาย ทั้งนี้กิจกรรมวิ่งไล่ยุงในวันที่ 10 ม.ค.จะถือเป็นการ Kick Off เชิงสัญลักษณ์การเริ่มต้นการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยจะมีการถ่ายทอดสดไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดใดมีความพร้อมก็จะดำเนินการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายพร้อมกัน จะจัดใหญ่ จัดเล็กแล้วแต่พื้นที่
นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยุงลาย เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งโรคชิคุณยาไม่ได้ทำให้เสียชีวิตแต่กระทบกับการใช้ชีวิตกระทบกับการทำงานเพราะทำให้เกิดการปวดเมื่อยร่างกาย ขณะที่โรคติดเชื้อไวรัสซิกาก็ไม่มีผลกระทบกับคนทั่วไปยกเว้นทารกในครรภ์ซึ่งขณะนี้ไม่มีความผิดปกติ แต่ที่เราเป็นห่วงคือโรคไข้เลือดออกเพราะเมื่อป่วยแล้วทำให้สามารถเสียชีวิตได้ โดยในปี 2562 กรมควบคุมโรคได้มีการคาดการณ์สถานการณ์เอาไว้ว่าจะมีการระบาดมีผู้ป่วยไม่เกิน 1 แสนราย และเสียชีวิต ไม่เกิน 100 ราย ล่าสุดจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าสถานการณ์เกินไปจากที่เราตั้งเป้าไว้เยอะ โดยมีผู้ป่วย 1.1 แสนราย เสียชีวิตกว่า 140 ราย ฉะนั้นในปีนี้หากเราเริ่มรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายกันตั้งแต่ต้น ก็หวังว่าจะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้ ถ้าให้ตั้งความหวังก็หวังว่าจะมีผู้ป่วยไม่เกิน 1 แสนรายและมีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 100 ราย
- 22 views