นางฐิติรัตน์ หยงเรืองศิลป์ หญิงชราวัย 68 ปี เป็นหนึ่งในคนไร้บ้านที่มาพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้าน บางกอกน้อย (สุวิทย์ วัดหนู) ตั้งแต่ปี 2560 ตลอดระยะเวลาที่พักอาศัยอยู่ที่นี่ เธอมีพฤติกรรมแปลกๆ อย่างหนึ่งคือมักจะออกมาซักผ้าในเวลากลางคืนช่วงตี 1-2 เป็นประจำ จนกระทั่งกลางปี 2562 เธอประสบอุบัติเหตุหกล้มแขนหัก ต้องยอมให้เพื่อนคนไร้บ้านด้วยกันเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ จึงได้พบว่ามีแผลใหญ่ขนาดชามข้าวอยู่ที่บริเวณหน้าอก เมื่อพาไปโรงพยาบาลจึงได้รู้ว่าที่แท้เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายแล้ว
บ่ายแก่ ๆ ของวันหนึ่งกลางเดือน พ.ย. 2562 ทีมผู้สัมภาษณ์ได้นัดพบนางฐิติรัตน์และผู้ดูแลไว้ที่ศูนย์คนไร้บ้าน บางกอกน้อย (สุวิทย์ วัดหนู) เพื่อสอบถามอาการและความคืบหน้าในการรักษา เราพบหญิงชราร่างผอมเล็กสีหน้าเรียบเฉยนั่งอยู่บนโซฟา แต่งตัวด้วยชุดสะอาดแต่ก็พอมองเห็นผ้าพันแผลที่ซ่อนอยู่ในเสื้อได้เป็นบางส่วน เมื่อแนะนำตัวทักทายกันตามสมควรแล้วจึงได้ขออนุญาตสัมภาษณ์ถึงความเป็นมาของเธอว่าเหตุใดจึงกลายมาเป็นคนไร้บ้านและกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเช่นนี้
นางฐิติรัตน์ บอกเล่าชีวิตของตัวเองด้วยน้ำเสียงสบาย ๆ เป็นกันเองว่าครอบครัวที่แท้จริงของเธออาศัยอยู่ในเขตบางลำภู เป็นครอบครัวที่มีลูกถึง 9 คน ฐานะทางเศรษฐกิจก็ลำบากยากจน ดังนั้นเมื่อเธออายุได้ 6 ขวบ พ่อจึงยกเธอให้ผู้มีฐานะครอบครัวหนึ่งที่ไม่มีลูกสาวไปเลี้ยงดู และนั่นก็คือจุดสิ้นสุดความสัมพันธ์กับครอบครัวเดิมเพราะไม่ได้ติดต่อกับพ่อแม่พี่น้องอีกเลยตลอดชีวิต
หลังจากย้ายมาอยู่กับพ่อแม่บุญธรรมแล้ว นางฐิติรัตน์เล่าว่าในช่วงแรกแม่บุญธรรมก็ใจดี ส่งเสียให้เรียน เลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างดี จนกระทั่งในช่วงหลังได้รับเด็กมาอุปการะอีกคน พฤติกรรมของแม่บุญธรรมก็เปลี่ยนไป เริ่มใช้ความรุนแรง มีการทุบตีทรมาน ใช้ทำงานหนัก ซักผ้ากาละมังใหญ่ ๆ รีดผ้า จ่ายตลาด ทำกับข้าว ฯลฯ เธอทนอยู่จนอายุ 19 ปีจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับพ่อบุญธรรม (สามีเก่าของแม่บุญธรรมซึ่งหย่าร้างไปแต่งงานใหม่แล้ว) พ่อบุญธรรมก็ใจดีให้อาศัยอยู่ด้วยโดยไม่ได้ทำงานอะไร เธออยู่กับพ่อบุญธรรมจนอายุประมาณ 36-37 ปี ก็มีพ่อสื่อมาแนะนำผู้ชายคนหนึ่งให้พ่อบุญธรรมรู้จัก สุดท้ายเธอก็ถูกจับแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากับชายคนนี้
เมื่อแต่งงานแล้วเธอย้ายไปอยู่กับสามีที่ย่านบางขุนนนท์ ช่วยสามีทำอาชีพค้าขายเรื่อยมากว่า 30 ปี แต่ไม่มีลูก ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง และช่วง 3 ปีสุดท้ายท้ายของชีวิตคู่ สามีเธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บ่นแต่อยากฆ่าตัวตาย ไม่ทำมาหากิน ใช้เงินและทรัพย์สินที่เหลือจนหมด จนปี 2560 สามีของนางฐิติรัตน์ก็เสียชีวิตไป
"เงินที่มีก็หมด ทรัพย์สินก็ไม่มี บ้านก็ไม่มี ลูกก็ไม่มี หลังงานศพของสามีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็มีคนแนะนำให้มาอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้าน (สุวิทย์ วัดหนู) ก็เลยนั่งแท็กซี่มาอยู่ที่นี่ได้ 2 ปีแล้ว" นางฐิติรัตน์ กล่าว
สำหรับโรคมะเร็งเต้านมนั้น เธอตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตอนปี 2546 แพทย์จะผ่าตัด แต่สามีของเธอกลับไม่ยอมให้ผ่า กลัวไม่มีคนดูแล ไม่มีคนช่วยค้าขาย นางฐิติรัตน์จึงต้องอยู่กับโรคมะเร็งเรื่อยมา โดยใช้วิธีรักษาด้วยการแกว่งแขนแทนเพราะเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับการแพทย์จีน บอกว่าแกว่งแขนแล้วจะหาย เมื่อไม่ได้รักษา อาการของโรคก็ลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ระยะสุดท้าย
นายธเนศร์ จรโณทัย
นายธเนศร์ จรโณทัย ผู้ดูแลศูนย์คนไร้บ้าน บางกอกน้อย (สุวิทย์ วัดหนู) ช่วยให้ข้อมูลว่า นางฐิติรัตน์ได้เข้าพักอาศัยที่ศูนย์คนไร้บ้านฯมาตั้งแต่ปี 2560 และมักมีพฤติกรรมซักผ้าในเวลากลางคืนช่วงตี 1-2 จนกระทั่งกลางปี 2562 เกิดหกล้มแขนหัก เมื่อพาไปโรงพยาบาลจึงเพิ่งทราบว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย มีแผลขนาดใหญ่ที่หน้าอก เลือดและน้ำเหลืองไหลซึม นางฐิติรัตน์จึงต้องซักผ้าในเวลากลางคืนเพราะอาย ไม่อยากให้ใครรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งเต้มนม
เมื่อทราบเช่นนี้ ทางศูนย์ก็ช่วยเหลือพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลกลางและพยายามอย่างยิ่งที่จะให้รับตัวนางฐิติรัตน์เป็นผู้ป่วยในเพื่อให้ได้รับการดูแลอยู่ในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลไม่รับตัวเป็นผู้ป่วยใน โดยให้เหตุผลว่าเตียงเต็มและส่งกลับมาอยู่ที่ศูนย์
"ทางศูนย์ฯพยายามประสานทุกอย่างเพื่อให้นางฐิติรัตน์ได้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและศูนย์คนไร้บ้านไม่มีศักยภาพในการบริบาลผู้ป่วย ช่วงแรก ๆ ก็ต้องให้เพื่อนคนไร้บ้านด้วยกันคอยดูแลทำความสะอาดแผลและพาไปโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัด ไปโรงพยาบาลได้ 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 ทางหมอบอกว่าไม่ให้กลับมาพักที่ศูนย์แล้ว ต้องให้นอนรักษาที่โรงพยาบาล แต่ปรากฎว่าอยู่โรงพยาบาลได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็ถูกส่งกลับ โรงพยาบาลออกเงินค่าแท็กซี่ให้นั่งกลับมาเอง" นายธเนศร์ กล่าว
ผู้ดูแลศูนย์คนไร้บ้าน บางกอกน้อย (สุวิทย์ วัดหนู) ให้ความเห็นอีกว่า กรณีของนางฐิติรัตน์แม้จะมีบัตรประชาชนและสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ แต่ก็ยังมีสุญญากาศของระบบการดูแล เพราะความที่เป็นคนไร้บ้าน เมื่อโรงพยาบาลบอกว่าไม่รับตัวก็ไม่รู้จะพาไปอยู่ที่ไหน จะให้อยู่ศูนย์คนไร้บ้านก็เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีพื้นที่รองรับจำกัดและไม่มีผู้ชำนาญด้านการรักษาพยาบาล จะให้พักอยู่ในสถานที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ไม่มีสถานที่รองรับ
"เคยคุยกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เขาก็บอกว่าให้พาผู้ป่วยไปร้องต่อยูเอ็นเอาเอง เขาบอกว่าเขาเป็นแค่หมอ ไม่ใช่คนจัดหาที่อยู่อาศัย วันที่ส่งกลับมาเราก็โทรหาโรงพยาบาล เขาก็บอกว่าติดต่อกระทรวง พม. ให้แล้ว เขาทำได้แค่นี้ พอถามทาง พม.ก็บอกว่าไม่มีที่รองรับเลย ต้องรอคิวกว่า 190 คน ตอนนี้เราก็เลยต้องประสานไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอามขอให้ส่งพยาบาลมาช่วยล้างแผลให้วันละ 1 ครั้ง" นายธเนศร์ กล่าว
นายธเนศร์ กล่าวอีกว่า กรณีลักษณะนี้สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการดูแลคนไร้บ้าน เพราะถ้าจะพักอาศัยในสถานที่ของ พม. ก็มีเงื่อนไขว่าต้องอายุไม่เกิน 60 ปี ดังนั้นคนที่อายุเกินก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน บางส่วนก็มาอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐเองบางครั้งไม่รู้จะส่งไปที่ไหนก็ส่งมาที่นี่ ยิ่งผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยยิ่งไม่รู้จะถูกวางไว้จุดไหน เพราะโรงพยาบาลก็ไม่ให้นอนรักษา ทาง พม.ก็ไม่มีสถานที่รองรับ
"ข้อเสนอคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ พม.ต้องคุยกันเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่างน้อยต้องมีที่รองรับคนกลุ่มนี้ อย่างที่ศูนย์นี้ก็มีเกือบ 20 คนแล้วที่เป็นแบบนี้ โรงพยาบาลชื่อดังบางแห่งยังเคยส่งมาให้เราเลย ผู้ป่วยต้องให้อาหารทางสายยางก็เอามาให้เรา เราก็ทำไม่เป็น กลัวผู้ป่วยติดเชื้อ แล้วกรณีแบบนี้ไม่ใช่มีแค่ 1-2 คน ยังมีที่โรงพยาบาลเอาไปไว้ตรงโน้นตรงนี้แล้วเรายังไม่รู้อีกล่ะ ดังนั้นอยากให้มีการพูดคุยกันของ สปสช.และ พม.อย่างจริงจังว่าจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร" นายธเนศร์ กล่าวทิ้งท้าย
- 56 views