ภาคีเครือข่าย สปสช.-สสส.-พอช.-ม.มหิดล- กทม.- สธ. พร้อมภาควิชาการ-ประชาสังคม ลงพื้นที่บางกอกน้อย ตรวจคัดกรอง COVID-19 แก่ชุมชน-คนไร้บ้าน พร้อมเพิ่มการตรวจหาภูมิคุ้มกัน “Antibody” วัดผลมาตรการรัฐ-เฝ้าระวังการแพร่กระจายในอนาคต
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายสลัม 4 ภาคมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส COVID-19 และมอบอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ณ ศูนย์พักคนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู เขตบางกอกน้อย
ทั้งนี้ ได้มีการตรวจคัดกรองให้แก่ประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่กว่า 110 คน โดยการเก็บตัวอย่างจากกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรม (Antigen) ด้วยวิธีการ RT-PCR ควบคู่กับการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้านบริเวณพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรี เขตเทศบาลนครนนทบุรี ไปแล้ว ซึ่งผลที่ออกมาไม่พบผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า การตรวจคัดกรองในขณะนี้ สปสช.ได้มุ่งดำเนินการในกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด เช่น กลุ่มผู้ต้องขัง หรือกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากหลากหลายแห่ง แต่ต้องอยู่ร่วมกันในสถานที่จำกัด โดยจากการตรวจที่ผ่านมายังคงได้ผลเป็นลบ สอดคล้องกับสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศที่ลดน้อยลง และเหลือเป็นเลขศูนย์เมื่อช่วงที่ผ่านมา
“ครั้งนี้เราพิเศษกว่าปกติ คือนอกจากตรวจหาสารพันธุกรรมโดยตรงแล้ว ยังมีการตรวจหา Antibody เพื่อดูว่าตามชุมชนขณะนี้เริ่มมีการสร้าง Antibody แล้วหรือยัง ซึ่งถ้ามีการตรวจพบนั้นจะแปลว่ามีประชากรที่ได้รับไวรัสไปแล้ว แต่ไม่แสดงอาการ และหายดีจนกระทั่งสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ โดยหากคนไทยมีภูมิคุ้มกันถึงในระดับหนึ่ง เราก็อาจไม่ต้องกลัวการระบาดอีกต่อไป เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ทุกคนมีภูมิอยู่ในตัว” ทพ.อรรถพร ระบุ
ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังจากที่เราทราบกันแล้วว่าขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยลดน้อยลง แต่อีกส่วนหนึ่งที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงภาควิชาการต่างๆ ให้ความสำคัญ คือการศึกษาข้อมูลทางวิชาการว่าในปัจจุบันเรามีการติดเชื้อแพร่กระจายเข้าไปในชุมชนมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลเหล่านี้จะบ่งชี้ว่ามาตรการดูแลที่ผ่านมาได้ผลดีมากน้อยเพียงใด โดยรัฐบาลสามารถนำข้อมูลต่างๆ กลับไปวางแผนเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ในอนาคต
“ขณะนี้เรานำร่องศึกษาในกลุ่มคนไร้บ้าน รวมไปถึงตามชุมชนเป้าหมายต่างๆ ถ้าพบว่าเดิมเขาไม่มีอาการ ตรวจไม่เจอเชื้อ แต่พบว่าปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันอยู่ อาจบ่งชี้ได้ว่าเขาเคยได้รับเชื้อมาแล้วแต่ไม่แสดงอาการ แปลว่าได้มีการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังชุมชนต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันถ้าเราตรวจไม่เจอภูมิคุ้มกันในกลุ่มชุมชนเหล่านี้ ก็เป็นที่เบาใจว่ากระบวนการเฝ้าระวังและป้องกันที่ผ่านมาเราทำได้ดี” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าว
ขณะที่ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของ สสส. คือการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน เพื่อให้เห็นคุณค่าในตัวเอง สามารถตั้งหลักชีวิตและกลับคืนสู่สังคมได้ โดยในช่วงภาวะวิกฤต COVID-19 ได้มีการสนับสนุนเรื่องฉุกเฉิน ทั้งในด้านการจัดการอาหาร การจัดตั้งครัวกลาง การแจกจ่ายเวชภัณฑ์ รวมไปถึงการพูดคุยทำความเข้าใจในกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงสื่อต่างๆ ทำให้ไม่รับรู้ถึงสถานการณ์หรือนโยบายในภาพรวม
“มาตรการเคอร์ฟิวหรือนโยบายต่างๆ นั้นไปไม่ถึงคนบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสื่อใดๆ การไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จึงเป็นภาวะเร่งด่วน ดังนั้นวันนี้ทาง สสส. ได้มีการแจกจ่ายถุงผ้าเวชภัณฑ์จำนวน 1,600 ชุด ซึ่งนอกจากอุปกรณ์อย่างเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย หรือปรอทวัดไข้แล้ว ยังมีคู่มือภาคประชาชนในการดูแลตัวเอง เป็นการย่อยข้อมูลในส่วนที่เขาจะต้องรับรู้และปฏิบัติตนอย่างถูกต้องไว้ครบถ้วน” นางภรณี ระบุ
ด้าน น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ระบุว่า นอกจากกลุ่มคนไร้บ้านเดิมแล้ว ขณะนี้ยังมีกลุ่มที่รอจะมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ คือกลุ่มคนที่เพิ่งออกจากเรือนจำแต่ไม่มีที่ไป ซึ่งในช่วงนี้ทางเรือนจำยังให้อยู่พักไปก่อนเพราะยังติดช่วงของเคอร์ฟิว แต่หลังจากนี้ทางเครือข่ายได้กำลังมีการพูดคุยกันว่า หากมีการทำระบบคัดกรอง มีข้อมูลร่วมกันแล้ว ก็อาจมีบางส่วนที่พร้อมเข้ามายังศูนย์พักคนไร้บ้าน เพื่อฟื้นฟูและกลับสู่สังคมต่อไป
- 35 views