สสส.-สถาบันประสาทวิทยา-มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และภาคีเครือข่าย ชวนคนไทยทำบุญอย่างชาญฉลาด “ปันกันสุข” เปลี่ยนการให้ทานด้วยทรัพย์สิน เป็นทำบุญด้วยการพัฒนาจิต สร้างเสริมพลังจิตอาสา เพื่อผู้ป่วยโรคระบบประสาท

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่ สวนหย่อมหน้าอาคารวิจัยประสาท 9 (ตึก ภปร.) สถาบันประสาทวิทยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “ฉลาดทำบุญ วิถีสร้างสุข : ปันกันสุข” เพื่อสื่อสารกับสังคม เปลี่ยนแนวคิดเรื่องการทำบุญด้วยการสละวัตถุทรัพย์สิน เป็นการพัฒนาจิตให้เกิดการเจริญงอกงามในใจบุคคล พร้อมเชื่อมโยงมิติทางสังคมด้วยกิจกรรมอาสาต่างๆ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนัก 11 สสส. กล่าวว่า “ปันกันสุข” เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิถีฉลาดทำบุญเพื่อสร้างสุขภาวะของสังคม เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมเห็นโอกาสในการเข้าถึงประสบการณ์ตรง มีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะปัญญา และเกิดสติในการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะ รวมถึงสื่อสารเรื่องการทำบุญตามหลักพุทธศาสนา ที่สามารถให้ได้มากกว่าตัวเงิน แต่เป็นการพัฒนาภายใจและการให้เวลาในการทำดีเพื่อผู้อื่นซึ่งสอดคล้องกับภารกิจและวิสัยทัศน์ของแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญาของ สสส. ที่ต้องการส่งเสริมสนับสนุนให้คนในสังคมพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา นำไปสู่การมีภูมิคุ้มกันความเข้มแข็งและสมดุลในจิตใจ โดยคาดหวังว่าแนวคิดเรื่องการทำบุญจากโครงการนี้จะสามารถขยายผล เพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาให้เกิดสังคมสุขภาวะ

นางสาวพรทิพย์ ฝนหว่านไฟ หัวหน้าโครงการ “ฉลาดทำบุญวิถีสร้างสุขภาวะของสังคม” กล่าวถึงการจัดงาน "ฉลาดทำบุญ วิถีสร้างสุข : ปันกันสุข" ว่าเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “ฉลาดทำบุญวิถีสร้างสุขภาวะของสังคม” จัดขึ้นเพื่อสื่อสารกับสังคม ขยายแนวคิดเรื่องการสร้างสังคมแห่งการให้เชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องบุญในพระพุทธศาสนา ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ เช่น งานจิตอาสาและการแบ่งปัน โดยให้ผู้เข้าร่วมงาน ได้รับรู้แนวคิดการแบ่งปันผ่านร้าน “ปันกันอิ่ม” ผ่านการเสวนาเรื่องเล่าและแรงบันดาลใจจากผู้ร่วมแบ่งปันความสุขกับสังคมในมิติต่างๆ การแสดงกู่เจิ้ง-ดนตรีบำบัด จากสำนักบ่มเพาะนวัตกรรมและสารสนเทศ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล พิธีเปิดนิทรรศการศิลปะเพื่อการเยียวยา จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และตัวอย่างของร้านค้าในโครงการปันกันอิ่มที่มาร่วมกันแบ่งปันความสุข ด้วยคาดหวังว่างานในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปลุกเร้าพลังแห่งความดีผ่านกระบวนการจิตอาสา เพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างการเรียนรู้เรื่องการทำบุญรูปแบบใหม่ๆ ในสังคมไทย อันจะนำไปสู่สังคมแห่งการให้และแบ่งปันอย่างกว้างขวางในอนาคต

ดร.นพ.วุฒิพงษ์ ฐิรโฆไท ประธานคณะทำงานจิตอาสา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สถาบันประสาทวิทยาร่วมกับ สสส. ทำกิจกรรมปันกันอิ่ม และปันกันนอน เพื่อแบ่งปันอาหารและที่พักให้แก่ผู้ป่วยและญาติที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด พร้อมกับจัดให้มีจิตอาสาอำนวยความสะดวกภายในโรงพยาบาล ระยะต่อมาจึงเกิดกิจกรรม “ปันกันสุข” ด้วยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิพุทธิกา ม.ศิลปากร ม.มหิดล และภาคีเครือข่าย นำศิลปะแขนงต่างๆ มาบำบัดรักษาอาการข้างเคียงของผู้ป่วยทางระบบประสาท อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ฯลฯ โดยในอนาคตเตรียมจะนำ Music Therapy หรือดนตรีบำบัด เข้ามาทดลองพัฒนาฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วย รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้มีสติต่อสู้กับสภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย เพราะเชื่อว่าการเยียวยาความเจ็บป่วยต้องดูแลเป็นองค์รวม ให้มีสุขภาวะทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา โดยเชื่อมั่นว่าตัวนักศึกษาเจ้าของผลงานเอง จะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วย

ดร.ธนาทร เจียรกุล คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า คณะมัณฑนศิลป์มีความตั้งใจจะร่วมทำบุญกับโครงการฯนี้ เริ่มด้วยการจัดแสดงผลงานศิลปะการออกแบบจำนวน 51 ชิ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยา พัฒนาสภาพอารมณ์จิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้น หลังจากนั้นจึงจะนำกิจกรรมที่ผู้ป่วยและญาติสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำได้ เนื่องจากผลวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ดนตรีสามารถแก้ปัญหาอาการสมาธิสั้นของเด็กออทิสติกได้ จึงเชื่อว่าศิลปะการออกแบบ ทั้งการปั้นเซรามิก การตัดกระดาษ การพับนก ฯลฯ จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยทางระบบประสาทได้เช่นกัน ที่สำคัญการทำกิจกรรมเช่นนี้ยังช่วยพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วม ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ฝึกสอนและผู้เรียนได้อีกด้วย

นายมงคล วัฒนชานนท์ จากร้านปังปันบุญ กล่าวว่า ตนเริ่มขายขนมปังมาตั้งแต่ต้นปี 2561 เพื่อเลี้ยงครอบครัวหลังต้องตกงาน เมื่อทำไปได้สักพักพบว่าทางวัดพระบาทน้ำพุประกาศรับข้าวสารอาหารแห้ง จึงเกิดความคิดหักรายได้ที่มาจากขนมปังเพื่อนำไปสมทบทุน เนื่องจากไม่สามารถส่งขนมปังสดไปร่วมทำบุญในระยะทางที่ไกลได้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำบุญมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งตนมองว่าคนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ควรประกอบไปด้วยความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพ ความอดทนต่อความรู้สึกย่อท้อ และประการสุดท้ายคือการทำความดีด้วยการใส่ใจสังคมคนรอบตัว ทุกวันนี้ตนมีความสุขมากที่ได้แบ่งปันขนมปังให้คนยากไร้ในทุกๆวัน ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่วัดพระบาทน้ำพุ พร้อมกับได้ฝึกเจริญจิตภาวนาทุกครั้งที่ออกมาขายขนมปังริมถนนหรือบริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้า ได้แบ่งปันรอยยิ้มให้ลูกค้า เสมือนได้ทำบุญในทุกขณะที่ยังมีลมหายใจ