(medscape.com) สายตาของแมรี พรีโฮเดน (Mary Prehoden) จับจ้องอยู่ที่แผลบนหน้าอกของเธอทุกครั้งที่แต่งตัวออกไปทำงาน
แผลเป็นนั้นย้ำเตือนถึงความทรงจำเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต พรีโฮเดนซึ่งเป็นหัวหน้าพยาบาลประจำโรงพยาบาลสคริปส์เมอร์ซีฮอสปิตอลซานดิเอโก (Scripps Mercy Hospital San Diego) ถูกผู้ป่วยโรคจิตที่ขาดยาทำร้ายอย่างป่าเถื่อน ผู้ป่วยโจนเข้าใส่และทุ่มเธอลงกับพื้น ชกและเตะใส่เธอไม่ยั้ง หนำซ้ำยังกัดเข้าที่หน้าอกจนเป็นแผลเลือดออก
แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเพียง 90 วินาที ทว่าผลกระทบยังคงไม่จางหาย
“ถึงแม้ไม่มีแผลเป็นเหลืออยู่ แต่แผลใจก็ยังไม่หายไปไหนค่ะ” พรีโฮเดน วัย 58 ปีกล่าว “มันจะติดอยู่กับคุณไปตลอดชีวิตนั่นล่ะ”
เหตุประทุษร้ายบุคลากรทางการแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ
รายงานโดยสำนักความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของสหรัฐเปิดเผยว่าเหตุรุนแรงในสถานพยาบาลสูงกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของธุรกิจเอกชน และเชื่อว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้ รายงานชี้ด้วยว่าเหตุรุนแรงราวร้อยละ 80 มีสาเหตุจากผู้ป่วย รวมถึงญาติและเพื่อนหัวร้อนของผู้ป่วย ขณะที่เหตุรุนแรงจากบุคลากรหรือนักศึกษามีสัดส่วนราวร้อยละ 6 เท่านั้น
ผลสำรวจความคิดเห็นจากแพทย์ห้องฉุกเฉินราว 3,500 คนเมื่อปี 2561 โดยวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินอเมริกันชี้ว่าแพทย์ราวร้อยละ 70 เห็นพ้องว่าเหตุรุนแรงในแผนกฉุกเฉินเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
แพทย์ราวร้อยละ 40 เชื่อว่าเหตุรุนแรงโดยมากมาจากผู้ป่วยโรคจิต และราวครึ่งหนึ่งมองว่าส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยที่ร้องขอยาหรือผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้ฤทธิ์ของยา/สุรา
รัฐแคลิฟอร์เนียมีกฎหมายให้โรงพยาบาลจัดทำแผนป้องกันเหตุรุนแรงในที่ทำงาน รวมถึงรายงานจำนวนและชนิดของเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อรวบรวมเป็นรายงานประจำปี
รายงานฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกชี้ว่าโรงพยาบาล 365 แห่งมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นรวม 9,436 เหตุการณ์ในระยะ 12 เดือนนับถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 โดยมีตั้งแต่การข่วนไปจนถึงแทงกัน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์มักหนีไม่พ้นโดนชกหรือตบ และบางคนอาจโดนกัดด้วย
“ฉันไม่รู้มาก่อนเลยว่าเราต้องรู้จักป้องกันตัวเองในโรงพยาบาลด้วย” พรีโฮเดนเผย “คิดไม่ถึงเลย”
ฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลสคริปส์เมอร์ซีได้ออกมาตรการปกป้องบุคลากรของตนจาก ‘การระบาดของเหตุรุนแรง’ โรงพยาบาลได้ตั้งทีมเฉพาะกิจสำหรับหยุดยั้งสถานการณ์รุนแรงและเครื่องมือคัดกรองพฤติกรรมสำหรับระบุผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุ โดยผู้ป่วยที่ถูกระบุจะต้องสวมริสต์แบนด์สีเขียวและแขวนป้ายสัญลักษณ์วงแหวนสันติภาพสีเขียวไว้หน้าประตูห้องพักผู้ป่วย
ไรอัน ซอมเมอร์ (Ryan Sommer) หัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลสคริปส์เมโมเรียลฮอสปิตอลเอนซินิตาส (Scripps Memorial Hospital Encinitas) เป็นผู้นำโครงการอบรมสลายเหตุรุนแรงสำหรับบุคลากรของโรงพยาบาลสคริปส์ทุกสาขาในเมืองซานดิเอโก
ในเช้าวันหนึ่งบุคลากรราว 20 คนมารวมตัวกันที่โรงพยาบาลเอนซินิตาสเพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันตัวจากผู้ป่วยที่จะเข้ามาทำร้าย โดยซอมเมอร์ชี้ว่าพฤติกรรมเป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดพฤติกรรมตามมา ดังนั้นจึงต้องรับฟังผู้ป่วยอย่างเห็นอกเห็นใจเพื่อที่จะสร้างไมตรีกับผู้ป่วย และพยายามใจเย็นเข้าไว้เพราะเป้าหมายอยู่ที่การทำให้ผู้ป่วยหัวร้อนสงบลง
ซอมเมอร์ยังได้สอนเทคนิคป้องกันตัวเมื่อสถานการณ์เริ่มดุเดือด โดยให้บุคลากรจับคู่กันฝึกท่ามือเปล่าสำหรับยับยั้งการประทุษร้าย
“โดนกันมากี่คนแล้วครับ?” ซอมเมอร์ถาม เกือบทุกคนยกมือขึ้นพร้อมเพรียง
“นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวันครับ บุคลากรของเราโดนต่อย ข่วน ถ่มน้ำลายใส่ ไม่ก็โดนด่าทอ” เขาบอกภายหลัง
โฆษกโรงพยาบาลเผยว่าตั้งแต่ต้นปีนี้โรงพยาบาลสคริปส์ทุกสาขาได้กระจายกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพร้อมอุปกรณ์ป้องกันรัดกุมตามจุดสำคัญในโรงพยาบาล โดยอนุญาตเจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนสตันกันเพื่อยับยั้งเหตุรุนแรงที่อาจถึงแก่ชีวิต ซึ่งกรณีของพรีโฮเดนก็ถือว่าเข้าข่ายนี้
เกล-บลองคาร์ด-ไซเกอร์ (Gail Blanchard-Saiger) รองประธานฝ่ายแรงงานและการจ้างงานของสมาคมโรงพยาบาลรัฐแคลิฟอร์เนียเผยว่าโรงพยาบาลอื่นทั่วรัฐแคลิฟอร์เนียก็เริ่มใช้มาตรการเดียวกันเพื่อลดการเผชิญหน้า
บลองคาร์ด-ไซเกอร์ชี้ว่า มาตรการที่โรงพยาบาลนำมาใช้ก็มีทั้งติดตั้งออดเตือน เครื่องตรวจจับโลหะ สุนัขรักษาความปลอดภัย เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและกล้องวงจรปิด ตลอดจนการฝึกอบรมยับยั้งเหตุรุนแรง โดยแตกต่างไปตามที่ตั้งและความเสี่ยงของแต่ละโรงพยาบาล
บลองคาร์ด-ไซเกอร์ยังได้ย้ำถึงบทบาทสำคัญของการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น “แต่ถึงกระนั้นก็ได้ยินมาหนาหูว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมมาที่โรงพยาบาลเพราะขาดคนหรือไม่มีงบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่มองโรงพยาบาลเป็นเรื่องรอง”
พรีโฮเดนเองก็เข้าร่วมการฝึกอบรมยับยั้งเหตุรุนแรงและเป็นหนึ่งในทีมฉุกเฉินของโรงพยาบาลสคริปส์เมอร์ซีฮอสปิตอล
กว่าพรีโฮเอนจะกลับมาทำงานได้ก็ล่วงไป 3 สัปดาห์หลังจากโดนทำร้ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 พรีโฮเดนซึ่งเป็นพยาบาลมาร่วม 40 ปียอมรับว่าทุกวันนี้ก็ยังใจไม่สู้ดีและรู้สึกราวกับสูญเสียความมั่นใจไปตั้งแต่ครั้งนั้น ส่วนผู้ป่วยที่ทำร้ายเธอถูกตัดสินโทษจำคุก 6 เดือน
“นี่ไม่ควรจะเป็นโฉมหน้าใหม่ของวิชาชีพพยาบาล” พรีโฮเดนย้ำ “เราไม่ควรสูญเสียเพื่อนร่วมงานไปเพียงเพราะใครบางคนไม่ยอมกินยาค่ะ”
แปลและเรียบเรียงโดย หฤทัย เกียรติพรพานิช
จากเรื่อง Patient-Induced Trauma: Hospitals Learn to Defuse Violence [www.medscape.com]
- 34 views