“หมอประกิต” เผย กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ ไม่กระทบผู้สูบ ยกเว้นร้านค้าที่จำหน่ายจะถูกปรับดำเนินคดีตามกฎหมาย ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบในปี 55 ช่วยลดอัตราสูบบุหรี่ได้ ส่วนไทยเป็นประเทศแรกในแถบเอเชียที่ใช้มาตรการนี้ ต้นปีหน้าจะมีสิงคโปร์ และซาอุดิอาระเบียตามมา
นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ข้อมูลว่า จริง ๆ แล้วตามกฎหมายการใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้สูบ เพราะหากพบว่ามีซองบรรจุภัณฑ์แบบเก่าก็ไม่ได้มีความผิด ยกเว้นผู้นำเข้า ผู้ประกอบการร้านค้าที่จำหน่ายจะถูกปรับดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนลักษณะของซองบุหรี่แบบเรียบตามประกาศ ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นซองเรียบไร้ภาพทั้งหมด ยังคงมีภาพคำเตือนพิมพ์ด้านละ 1 แบบ ซึ่งเป็นแบบตามที่กรมควบคุมโรคกำหนดด้วยขนาดภาพ 85% ของพื้นที่ ส่วนพื้นผิวของซอง เป็นสีเขียวมะกอก เนื่องจากมีการสำรวจความคิดเห็นในวัยรุ่นของออสเตรเลียว่า เป็นสีที่ลดความดึงดูดได้ และห้ามใช้โลโก้สัญลักษณ์ตราสินค้า แต่ให้เป็นตัวหนังสือตามกฎหมายกำหนด คือ ความสูงไม่เกิน 4 มม.เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าการออกมาตรการบุหรี่ซองเรียบจะช่วยลดการสูบของสิงห์อมควันได้หรือไม่ นพ.ประกิต กล่าวว่า มาตรการบุหรี่ซองเรียบ เป็นการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่ทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ไม่ให้เข้าสู่วงจรนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งประเทศออสเตรเลีย เป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้กฎหมายบุหรี่ซองเรียบ ตั้งแต่ปี 2555 หลังจากประกาศใช้แล้ว พบว่าบุหรี่ซองเรียบทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง 0.2% ต่อปี
ประกอบกับการศึกษาประสิทธิผลของสีประกอบภาพคำเตือนบนซองบุหรี่แบบปราศจากสีสัน พบว่า ผลการทดลองวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เลือกสีเขียวขี้ม้าเป็นสีพื้นของซองบุหรี่แบบปราศจากสีสัน มีความเหมาะสมในการลดความดึงดูดใจของซองบุหรี่ได้มากกว่าสีอื่น และเป็นสีที่นำมาประกอบภาพคำเตือนขนาดร้อยละ 85 บนซองบุหรี่แล้วทำให้กลุ่มตัวอย่างรู้สึกไม่อยากซื้อบุหรี่
“สรุปวัตถุประสงค์หลัก คือ บุหรี่ซองเรียบ ทำให้ภาพคำเตือนชัดขึ้น และทำให้บริษัทบุหรี่ไม่สามารถใช้ซองบุหรี่เป็นสื่อโฆษณาได้ ซึ่งจะส่งผลไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ เพราะจะลดการดึงดูดในการสูบ อย่างในออสเตรเลียก็มีงานวิจัยว่าเห็นผลจริง ส่วนประเทศไทย มีการใช้หลายมาตรการ ทั้งมาตรการทางภาษี การรณรงค์ต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาไทยลดการสูบลงได้ประมาณ 0.5 % และมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบก็เช่นกัน ซึ่งมาตรการนี้บริษัทบุหรี่กังวลมากและที่ผ่านมาเคยฟ้องร้องประเทศที่ทำมาก่อน ทั้งออสเตรเลีย อังกฤษ แต่แพ้ ซึ่งได้ไปฟ้องถึงอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และองค์การค้าโลก (WTO) แต่สุดท้ายพิจารณาออกมาคือ ไม่ขัดกฎหมายใด ๆ แสดงว่ามาตรการนี้มีผลจริง” นพ.ประกิต กล่าว
นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกในแถบเอเชียที่มีการประกาศใช้มาตรการนี้ และในต้นปีหน้าจะมีสิงคโปร์ และซาอุดิอาระเบียตามมา
ซองบุหรี่แบบเรียบประเทศอังกฤษ
- 95 views