ร้านยาเทคแคร์ เครือข่ายหน่วยบริการร่วม รพ.พุทธชินราช ชี้ “โครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน” ไม่ยุ่งยาก ไม่เพิ่มภาระ ช่วยดึงร้านยามีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ แถมหนุนบทบาท “เภสัชชุมชน” ลดความแออัดใน รพ. ด้านผู้ป่วยชื่นชมเป็นทางเลือกที่ดี ไม่ต้องรอคิวรับยานาน มีเวลาปรึกษาเภสัชกรมากขึ้น
ภญ.ยลดา วิทยาวิโรจน์ ร้านยาเทคแคร์ เครือข่ายหน่วยบริการร่วมร้านยาโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก กล่าวว่า จากที่เข้าร่วมโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยกลไกร้านยา เป็นเครือข่ายหน่วยบริการร่วมโรงพยาบาลพุทธชินราช ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่เริ่มต้นนโยบาย ผู้ป่วยที่มารับยายังมีไม่มาก มีเพียง 6 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มโรคตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นนโยบายนี้ ทำให้ผู้ป่วยบางคนยังขาดความเข้าใจและไม่มั่นใจในระบบ คงต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและรับทราบมากขึ้น
ทั้งนี้สาเหตุเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะมองว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ และโดยปกติเราเป็นร้านยาที่อยู่ในชุมชน ดูแลคนในชุมชนอยู่แล้วและมีคนไข้ส่วนหนึ่งจากโรงพยาบาลพุทธชินราชก็มารับบริการที่นี่ มาสอบถามเรื่องการใช้ยาและผลข้างเคียงอยู่แล้ว ซึ่งร้านยาเราอยู่ห่างจากโรงพยาบาลพุทธชินราชไม่มากไม่เกิน 2 กิโลเมตร ทางร้านเองก็มีการให้คำปรึกษาและมีการติดตามอาการผู้ป่วยอยู่บ้าง คนไข้บางคนยังฝากสมุดประจำตัวคนไข้ไว้เพื่อให้ช่วยวัดความดันและติดตามอาการต่อเนื่อง ทางร้านก็ยินดีให้บริการเพราะถือเป็นการทำงานในรูปแบบหนึ่งของเภสัชชุมชนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการ
“ตอนแรกที่ได้ยินประกาศเกี่ยวกับนโยบายนี้ ก็มองว่าเป็นโครงการที่ดีและน่าสนใจ ในมุมมองคนไข้อย่างน้อยเมื่อหาหมอเสร็จแล้ว หากติดธุระก็สามารถไปทำก่อนได้ ไม่ต้องเสียเวลามารอรับยาที่ห้องยาโรงพยาบาล แต่กลับมารับยาภายหลังที่ร้านยาได้ ซึ่งสามารถรับยาได้เลยในเย็นวันเดียวกัน ไม่ต้องรอถึงวันถัดไป เนื่องจากทางโรงพยาบาลจะมีการจัดยาส่งมาไว้ที่ร้านยาเลย ขณะที่ร้านยาเองก็มองว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ เพราะเป็นช่องทางทำให้ร้านยาเข้ามีส่วนร่วมในระบบเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มบทบาทให้กับร้านยาชุมชนอบอุ่น แต่ทั้งนี้คงต้องติดตามว่าผลตอบรับจากคนไข้ต่อนโยบายนี้จะเป็นอย่างไร” ภญ.ยลดา กล่าว
ภญ.ยลดา กล่าวต่อว่า ส่วนที่มองว่าจะเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับร้านยาหรือไม่นั้น เมื่อดูตามหลักเกณฑ์ประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มองว่าไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพราะร้านยาส่วนใหญ่ก็เป็นร้านยา ข.ย.1 ที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว ในการเข้าร่วมโครงการก็เพียงแต่จัดเตรียมเอกสารที่มีอยู่เท่านั้น ไม่ได้ยุ่งยากอะไร และก่อนเข้าร่วมโครงการก็เพียงแต่เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางโรงพยาบาลพุทธชินราชและ สปสช.เท่านั้น เบื้องต้นการบริหารจัดการยาเป็นรูปแบบที่ 1 คือ ทางห้องยาของโรงพยาบาลจัดยาและส่งยามาที่ร้านยาเลย โดยร้านยาเพียงแต่ตรวจสอบความถูกต้องพร้อมอธิบายถึงการใช้ยาอย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วยที่มารับยา ซึ่งในกรณีที่มีปัญหาก็สามารถโทรคุยกับพี่เภสัชกรที่ห้องยาได้ทันที
อย่างไรก็ตามอยากให้มีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม โดยที่นี่ผู้ป่วยคิดว่าหลังตรวจกับคุณหมอแล้ว การจะรับยาที่ร้านยาได้ต้องรออีกวันหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะร้านยาที่นี่เปิดเที่ยงวันถึงเที่ยงคืน โดยในช่วงเย็นหากผู้ป่วยสะดวกก็มารับยาได้ในวันนั้นเลย ไม่ต้องรอยาอีกวัน
“มองว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์กับผู้ป่วย จากที่ได้สอบถามคนไข้ว่าทำไมถึงเลือกมารับยาที่ร้านยา ไม่รอรับยาที่ห้องยาของโรงพยาบาล ก็บอกว่ามารับยาที่ร้านยาสะดวกดี หาหมอเสร็จกลับบ้าน จะกินข้าวก่อนแล้วค่อยเดินไปรับยาที่ร้านก็ได้ เพราะร้านยาอยู่ใกล้บ้าน แถมไม่ต้องรอคิวนาน ยาก็เป็นยารายการเดียวกับที่รับที่โรงพยาบาล และยังได้คำแนะนำเกี่ยวกับการกินยาอีก” ภญ.ยลดา กล่าวและว่า ตอนนี้ที่ร้านยังเป็นการให้ผู้ป่วยรับยาหลังจากหาหมอแล้วเท่านั้น ยังไม่มีการเติมยา กรณีที่มีผู้ป่วยจะขอเติมยาก็จะแนะนำให้ไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลก่อน เพราะจะได้มีการติดตามอาการต่อเนื่อง ส่วนบทบาทเภสัชกรชุมชนในวันนี้ มองว่าสามารถมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพได้ โดยกรอบวิชาชีพสามารถตอบโจทย์ในชุมชน เพราะร้านยาไม่ได้เป็นเพียงแค่ร้านยา แต่เรามีศักยภาพที่จะช่วยดูแลและให้คำแนะนำสุขภาพเบื้องต้นได้
ด้าน นายวิชาญ กันยา คนไข้ที่ร่วมโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยกลไกร้านยา กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการฯ โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ห้องยาว่าทางโรงพยาบาลมีการเปิดช่องทางรับยาใหม่ให้กับคนไข้ สามารถรับยาใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องมานั่งรอคิวยาที่ห้องยา ซึ่งตนเองก็ขอเข้าร่วมเพราะมองว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่ดี เป็นวิธีรับยาที่สะดวก ในการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน เพียงแต่ต้องเป็นร้านยาที่เป็นเครือข่ายร่วมบริการกับโรงพยาบาล ทั้งนี้ปกติต้องไปหาหมอตรวจทุก 4 เดือน เวลาไปหากต้องเจาะเลือดตรวจก็ต้องไปรอคิวตั้งแต่ก่อน 7 โมงเช้า พอ 9 โมง คุณหมอถึงลงมาตรวจ แต่กว่าจะถึงคิวบางครั้งก็ 11 โมง หรือบ่ายโมงก็มีหากวันไหนที่คนไข้มาก ๆ และกว่าที่จะได้รับยา บางครั้งก็รอถึง 4 โมงเย็น ตรงนี้ทำให้มีคนไข้บางคนไม่ทันรถโดยสารกลับบ้านก็มี
แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ เวลาหาหมอเสร็จก็แค่นำใบสั่งจ่ายยาคุณหมอไปยื่นที่ห้องยาและกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องรอ ส่วนยานั้นทางโรงพยาบาลจะจัดส่งไปที่ร้านยาภายหลัง เป็นร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ โดยเราสามารถรับยาในเย็นวันนั้นได้เลยก็ได้ เพราะร้านยาเปิดบริการถึงเที่ยงคืน เราไปทำธุระก่อน ทุ่มหนึ่งไปรับยาก็ยังได้ แต่หากภายใน 1 สัปดาห์ผู้ป่วยไม่มารับยา ร้านยาจะส่งยาคืนกลับไปที่โรงพยาบาล และจากที่รับยาที่ร้านยาทางเภสัชกรที่ร้านก็ให้คำอธิบายแนะนำการใช้ยาที่ดี มีการตรวจวัดความดันให้ มองว่าเป็นส่วนที่ช่วยแบ่งเบาภาระเภสัชกรที่ห้องยาได้มาก และเป็นประโยชน์กับคนไข้ที่ได้จะรับการดูแลด้านยาละเอียดมากขึ้น
“จริง ๆ ถ้าผมต้องรอรับยาที่ห้องยาเหมือนเดิม ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะเรามีเวลาที่จะรอได้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีช่องทางสะดวกตรงนี้ก็มองว่าเป็นทางเลือกที่ดี อยากให้มีโครงการนี้ต่อไป เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไข้ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา และยังได้ปรึกษาเรื่องยากับเภสัชกรได้เต็มที่” นายวิชาญ กล่าว
ภญ.ยลดา วิทยาวิโรจน์ และ นายวิชาญ กันยา
- 510 views