“สาธิต” ตอบคำถาม ส.ส.อนาคตใหม่ ปม ก.พ.จะยกเลิกอัตราข้าราชการตั้งใหม่บรรจุแพทย์และทันตแพทย์หลังปี 2564 ย้ำแต่ละปีต้องทำความตกลงกับ ก.พ. และ คปร. เพื่อจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และจะสามารถบรรจุแพทย์ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในสายงานที่มีความจำเป็นตามกรอบอัตรากำลังเข้าทำงานได้ทั้งหมด
ราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 15 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ได้ตีพิมพ์กระทู้ถามของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ซึ่งถามถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นอัตรากำลังข้าราชการแพทย์และทันตแพทย์หลังจากปี 2564 เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์และการกระจายอัตรากำลัง เนื่องจากปรากฏเป็นข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะมีการยกเลิกอัตราข้าราชการตั้งใหม่บรรจุแพทย์และทันตแพทย์หลังปี 2564 ทั้ง ๆที่ข้อเท็จจริงคืออัตราเกษียณและลาออกของแพทย์ในแต่ละปีมีน้อยกว่าจำนวนนักศึกษาที่จบออกมา ขณะที่ภาระงานของแพทย์ก็มีมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอ โดยนายวิโรจน์ได้ตั้งคำถามใน 2 ประเด็นคือ
1. คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้เปิดช่องไว้ว่ากระทรวงสาธารณสุขอาจเสนอผลการวิเคราะห์ความต้องการอัตรากำลังที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้ คปร.ทบทวนและพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์แล้วหรือไม่ ผลการวิเคราะห์เป็นอย่างไร และได้ประสานงานกลับไปยัง คปร.แล้วหรือไม่
2. สธ.มีนโยบายกระจายอัตรากำลังเพื่อแก้ปัญหาภาระงานของแพทย์และปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ อย่างไร และเมื่อเดือน พ.ย.2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศว่าจะมีการแก้ไขปัญหาภาระงานทั้งระบบไปแล้ว ผลของข้อสรุปมีความคืบหน้าหรือไม่ อย่างไร
นายสาธิต ปิตุเตชะ
ทั้งนี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตอบกระทู้ถามดังกล่าวดังนี้
1. สธ.ได้ศึกษาและจัดทำแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการสุขภาพในระยะ 10 ปี (พ.ศ.2561 - 2570) โดยเสนอ คปร. เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2562 ตลอดจนเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและนำแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังมีปัญหาความขาดแคลนบุคลากรแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ และเภสัชกร โดยในระยะ 10 ปีข้างหน้าควรมีแพทย์ต่อประชากร 1:1,200 ประชากร พยาบาลวิชาชีพ 1:320 ทันตแพทย์ 1:2,700 และเภสัชกร 1:4,100 ซึ่งปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป สธ.ได้จัดทำแผนกำลังคน โดยรับแพทย์เข้าทำงานปีละ 2,200 คน และรับพยาบาลวิชาชีพเข้าทำงานประมาณปีละ 3,000 คน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่จะให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งจะต้องทำความตกลงกับ ก.พ. และ คปร. ในการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่รองรับบุคลากรดังกล่าวในแต่ละปี ก็จะสามารถบรรจุแพทย์ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในสายงานที่มีความจำเป็นและสอดคล้องกับภารกิจตามโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าทำงานได้ทั้งหมด
2.การกระจายอัตรากำลังเพื่อแก้ไขปัญหาภาระงานของแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพมีมาตรการสำคัญ คือ 2.1 มาตรการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน โดย สธ. มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาแพทย์และพยาบาล ในการรับนักเรียนจากพื้นที่ชนบทและขาดแคลนเข้าเรียน และให้กลับไปชดใช้ทุนในภูมิลำเนาหรือพื้นที่ที่ห่างไกล รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาต่อในระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการกระจายบุคลากรไปปฏิบัติงาน ในศูนย์ความเชี่ยวชาญในแต่ละเขตสุขภาพ
2.2 มาตรการด้านการกระจายอัตรากำลังและการธำรงรักษาบุคลากร โดย สธ. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอัตรากำลัง โดยการจัดทำกรอบอัตรากำลังและการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการที่เน้นการกระจายไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลน มีการกระจายอำนาจการบริหารอัตรากำลังไปยังเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละเขตซึ่งมีบริบทแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาความปลอดภัยในการทำงาน ยกระดับมาตรฐานที่พักอาศัยบุคลากร โดยปีงบประมาณที่ผ่านมา ได้ปรับปรุงบ้านพักเจ้าหน้าที่ โดยใช้งบ 2,045 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงระเบียบ ตลอดจนค่าตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่บุคลากร
2.3 มาตรการด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สธ.ได้เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลชุมชน เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน และลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของโรงพยาบาลศูนย์ ขณะเดียวกันยังขยายบริการปฐมภูมิเพื่อให้เป็นด่านแรกในการให้บริการประชาชนที่มีความเจ็บป่วยเล็กน้อย และการขยายบริการนอกโรงพยาบาล เช่น การดูแลระยะยาวที่บ้านและชุมชนโดยการสนับสนุนทรัพยากรจากโรงพยาบาล
นอกจากนี้ยังสร้างความเข้มแข็งของบริการเชิงรุก มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการสร้างความรอบรู้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งเป็นมาตรการที่ลดภาระของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังขยายบริการสุขภาพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาที่สำคัญเพื่อลดอัตราป่วยตายของประชาชน เช่น ศูนย์อุบัติเหตุ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์โรคไต ฯลฯ โดยกระจายศูนย์เชี่ยวชาญนี้ในแต่ละเขตสุขภาพ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ เช่น การลดระยะเวลาการรอคอยและการกระจายบริการที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบ Tele-Medicine การผลิตวัคซีนป้องกันโรคและโครงการ Precision Medicine เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหน่วยบริการของ สธ. ครอบคลุมกว่า 70% ของประเทศ การดำเนินมาตรการดังกล่าวที่ผ่านมาจึงยังไม่สามารถลดภาระของโรงพยาบาลได้มากนัก จึงยังต้องมีมาตรการและนโยบายที่จะผลักดันและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพต่อไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
‘สาธิต’ ตอบกระทู้ ส.ส.เพื่อไทย ชี้จัดงบให้ รพ.สต.แห่งละ 1 ล้านไม่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน
- 33 views