รัฐบาลไต้หวันโปรโมตธุรกิจการแพทย์ ดึงพ่อค้าไทยร่วมลงทุน ชี้เทคโนโลยี "ปลูกถ่ายตับ - ผสมเทียม" อันดับต้น ๆ ของโลก เผยปี 61 มีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism มากกว่า 4.2 แสนคน 1 ใน 3 มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมากกว่า 7,000 คน มาจากประเทศไทย ซึ่งหมายความว่า เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับไต้หวัน
วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล กรุงเทพฯ สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน ประจำประเทศไทย จัดงาน Taiwan Healthcare Seminar เพื่อโชว์ศักยภาพธุรกิจด้านสุขภาพของไต้หวัน โดยเชิญนักธุรกิจ ผู้บริหารโรงพยาบาล - ศูนย์การแพทย์ รวม 7 แห่ง ได้แก่ Nobel Eyes Institute สถาบันดูแลสายตา ผ่าตัดเลเซอร์ และผ่าตัดต้อกระจก, Merrier Beauty Institute สถาบันเสริมความงาม, Mendel Global Biotech สถาบันทดสอบทางพันธุกรรม และตรวจสุขภาพ, Taipei Beitou Health Management Hospital สถาบันตรวจสุขภาพ, Jiale Color Life Business คลินิกเทคโนโลยีชีวภาพ, Hayashi Hair Transplant Clinic คลินิกผ่าตัดปลูกผม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3i Smart Plant Factory
เจสัน ซู ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไต้หวัน ถือเป็นผู้นำด้านธุรกิจการดูแลสุขภาพ และได้รับยกย่องมาโดยตลอด ในฐานะประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก ปัจจุบัน แม้ไต้หวันจะมีพื้นที่ทั้งเกาะไม่มาก แต่ก็มีโรงพยาบาลที่ได้รับรองคุณภาพ JCI มากถึง 13 แห่ง โดยปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism มากกว่า 4.2 แสนคน ในปี 2561 โดย 1 ใน 3 มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมากกว่า 7,000 คน มาจากประเทศไทย ซึ่งหมายความว่า เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับไต้หวัน
เจสัน กล่าวอีกว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ของไต้หวันที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
เช่น การปลูกถ่ายตับ, วิทยาการช่วยเจริญพันธุ์, การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ, การผ่าตัดข้อสะโพกเทียม, การทำศัลยกรรมความงาม และการรักษาโรคมะเร็ง โดยการจัดงานในวันนี้ ต้องการดึงนักธุรกิจชาวไทย ให้เข้าไปร่วมลงทุนกับธุรกิจด้านการแพทย์ในไต้หวันมากขึ้น
พญ.อลิซ ไซ ผู้อำนวยการแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลไทเป – เป่ยโถว (Taipei beitou Health Management Hospital) กล่าวว่า ไต้หวันตั้งใจที่จะเผยแพร่จุดเด่นด้านการเป็นศูนย์กลาง Medical Tourism ตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบัน ระบบ NHI ซึ่งเป็นระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐนั้น “อยู่ตัว” และสามารถครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ รักษาได้ทั้งโรคพื้นฐาน รวมถึงโรคซับซ้อน โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มให้กับโรงพยาบาล
เพราะฉะนั้น จึงอยากส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาล และการแพทย์ออกไปให้ชาวโลก ได้เข้ามารักษาในไต้หวัน โดยโรงพยาบาลไทเป – เป่ยโถว ถือเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีรัฐบาลท้องถิ่นไทเป เป็นผู้ลงทุนตัวโรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง ขณะเดียวกัน ก็ยังให้บริการ “น้ำพุร้อน” สปา และโรงแรม ชั้นบนของโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นการให้บริการทางการแพทย์อย่างครบวงจร
“สิ่งที่เป็นจุดเด่นของโรงพยาบาล ก็คือสามารถให้บริการตรวจสุขภาพแบบ ‘สแกน’ ครบทุกจุด ตั้งแต่หัวจรดเท้า และสามารถรู้ผลทันทีภายหลังจากตรวจสุขภาพ นอกจากนี้ ที่โรงพยาบาลยังสามารถตรวจสุขภาพแบบ ‘รายบุคคล’ คือแพทย์ จะเป็นผู้ซักประวัติว่าคน ๆ นั้น มีอายุเท่าใด มีพฤติกรรมเสี่ยงอะไรบ้าง แล้วจัดแพคเกจตรวจสุขภาพที่เหมาะสมที่สุด” พญ.อลิซ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลไทเป - เป่ยโถว ยังกล่าวอีกว่า การตรวจสุขภาพ และการรักษาในไต้หวันสำหรับชาวต่างชาติ ไม่ได้แพงอย่างที่หลายคนคิด โดยบริการตรวจสุขภาพนั้น เสียค่าใช้จ่ายมากกว่าคนไต้หวันเพียง 1 เท่า สำหรับบริการ – การรักษาอื่น ๆ ก็เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากคนไต้หวัน ไม่เกิน 2 เท่า เท่านั้น เนื่องจากระบบสุขภาพไต้หวัน รัฐบาลเป็นผู้ให้การอุดหนุน
สำหรับไต้หวัน มีการเผยแพร่จุดเด่นด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) มากขึ้น ในระยะหลัง เนื่องจากมีคู่แข่งสำคัญคือ จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งดึงดูดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวัน ไปทำงานในจีนเป็นจำนวนมาก และมีการลงทุน Medical Tourism ในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ สถานพยาบาลในจีนก็ใช้โมเดลคล้ายกัน คือให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุนการก่อสร้างโรงพยาบาล - ศูนย์การแพทย์ รวมถึงร่วมทุนกับศูนย์การแพทย์ที่มีชื่อเสียงในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เพื่อดึงดูดลูกค้าเพิ่มขึ้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
‘ไต้หวัน’ บุกตลาด ‘เทคโนโลยีสุขภาพ’ สู่เส้นทางสร้าง ‘อัศจรรย์ทางการแพทย์’
NHI ไต้หวัน ชูการแข่งขันระหว่างโรงพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญแนะใช้ระบบไอซีทีลดการรักษาซ้ำซ้อน
- 438 views