กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมระบบรายงานโรคฯ ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ หลังพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ารายแรกในไทย เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะนอกจากบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพจนทำให้เกิดโรคต่าง ๆ แล้ว บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งผิดกฎหมายด้วย
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้จัดเตรียมระบบรายงานโรคและภัยสุขภาพครอบคลุมไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ หลังพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ารายแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมและรับมือสถานการณ์การระบาดของภาวะปอดอักเสบที่อาจรุนแรงขึ้นอีก หลังประชาชนหลงเชื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรง อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
สำหรับผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทยนั้น จากผลการสอบสวนโรคโดยผ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ ชี้ชัดว่าภาวะโรคปอดอักเสบเกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด มีอาการดีขึ้น ตอบสนองต่อการรักษา
ในส่วนของกรมควบคุมโรคได้มีการจัดทำแนวทางในการรายงาน ตามระบบการรายงานโรคและภัยสุขภาพของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยพัฒนาเกณฑ์การวินิจฉัย จากแนวทางของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเเห่งสหรัฐอเมริกา (US-CDC) ซึ่งแนวทางดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติแล้ว และหลังจากนี้จะมีการแจ้งไปยังโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อขยายผลในการเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้า สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า และบุคคลรอบข้างที่สัมผัสควันหรือละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยโรคดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการหายใจถี่ เจ็บหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้อง มีไข้ หรืออาจมีอาการน้ำหนักลดร่วมด้วย ซึ่งในบางรายอาการรุนแรงเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค ขอแจ้งเตือนประชาชนทั้งที่เป็นผู้สูบและผู้ที่มีโอกาสได้สัมผัสหรือรับละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักของโรคปอดอักเสบรุนแรง อย่าได้หลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อให้กับสินค้าทำลายสุขภาพชนิดนี้ นอกจากอันตรายจนทำให้เกิดโรคแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ายังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าหากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาทันที
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค 0 2590 3850 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 755 views