สปสช.ร่วมขับเคลื่อนนโยบายบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ บูรณาการพร้อมกับ สธ.ที่นำร่อง “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” ใน 21 รพ. เริ่ม 1 ธ.ค.62 นี้ โดยแยกจัดบริการนอกเวลาราชการ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง พร้อมเพิ่มรายการบริการใหม่ “บริการผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงนอกเวลาราชการ” ดูแลประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่ม ลดความขัดแย้งวินิจฉัยกรณีฉุกเฉิน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอ “แนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเพิ่มรายการบริการใหม่ กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วนและเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเวลาราชการ เนื่องจาก สปสช.ได้มองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการดูแลผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินที่มีทั้งกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติและผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว และกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วนแต่ในมิติของชาวบ้านจะรู้สึกเป็นความฉุกเฉินที่ต้องได้รับบริการโดยเร็วเช่นกัน ส่งผลให้ที่ผ่านมาเกิดความแออัดในห้องฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนและวิกฤต ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และ สปสช.จึงได้ร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบบริการห้องฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหา
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้นำร่องห้องฉุกเฉินคุณภาพในโรงพยาบาล 21 แห่ง และจะดำเนินการให้ครบ 34 แห่งภายในปี 2563 ซึ่งจะมีการแยกห้องบริการให้ชัดเจน คือ ห้องฉุกเฉินคุณภาพที่ให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วน ภายในห้องนี้จะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครันเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วนได้อย่างเต็มที่ และห้องฉุกเฉินไม่เร่งด่วนที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของประชาชน ผลที่เกิดขึ้นนอกจากทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินทั้ง 2 กลุ่ม ได้รับบริการที่ดีและมีมาตรฐานแล้ว ยังช่วยลดความเห็นที่ไม่ตรงกันที่นำมาสู่การเผชิญหน้า ทั้งทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการมากขึ้น ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการดูแลผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วนและเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของประชาชนที่เข้ารับบริการช่วงนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย บอร์ด สปสช.ยังได้ขยายการชดเชยค่าบริการให้ครอบคลุมส่วนนี้ เริ่มวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ในอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการ 150 บาทต่อครั้ง โดยปีงบประมาณ 2563 คาดว่าจะมีจำนวนการรับบริการ 1.05 ล้านครั้ง เป็นงบประมาณไม่เกิน 157.50 ล้านบาท เป็นการคาดการณ์จากข้อมูลในปีที่ผ่านมา
“สปสช.ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาระบบบริการให้มีมาตรฐาน ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบริการผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วนและเหตุสมควรอื่นนอกเวลาราชการ โดยกระทรวงสาธารณสุขดูแลในส่วนพัฒนาอาการสถานที่และการเชื่อมโยงข้อมูลการแพทย์ฉุกเฉิน งบประมาณ 151.5 ล้านบาท ขณะที่ สพฉ.จะดำเนินการในส่วนค่าตอบแทนบุคลากร ทั้งแพทย์และพยาบาลเวชศาสตร์ฉุกเฉิน งบประมาณ 492.74 ล้านบาท การดำเนินการเมื่อครบทั้ง 3 ส่วนแล้ว เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์บริการในห้องฉุกเฉินและการดูแลผู้ป่วยนอกเวลาดีขึ้น” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า ทั้งนี้การจ่ายชดเชยค่าบริการในรายการใหม่นี้ ขอให้เป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วนและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่การบริการของโรงพยาบาลมีข้อจำกัดในด้านจำนวนบุคลากร และการบริการตรวจวินิจฉัยต่างๆ ซึ่งต่างจากการบริการในช่วงเวลาปกติ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับญาติที่มาดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น ขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งได้จัดระบบมาตรฐานแล้ว โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ที่หน้าห้องฉุกเฉิน เช่น โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลระยอง เพื่อให้ญาติผู้ป่วยรับทราบว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างไรบ้าง
- 75 views