คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบสร้างความชัดเจนในคำนิยามเพื่อเดินหน้าพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) รองรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมตั้ง นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา เป็นประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพฯ ปี 2563-2564
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 5/2562 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมฯ และมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 ธันวาคม นี้ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีแนวคิดหลักในการจัดงานคือ “ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง...สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ” ซึ่งจะมีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 3,000 คนเข้าร่วมประชุม และมี 4 ระเบียบวาระที่สำคัญเข้าสู่การพิจารณา คือ 1.มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน 2.วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว 3.รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง และ 4.การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธาน คสช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้ง นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการและวิชาชีพ เป็นประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ปี 2563-2564 รับไม้ต่อจาก นพ.กิจจา เรืองไทย ประธาน คจ.สช. ที่กำลังจะหมดวาระในปีนี้ และตั้ง ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด เป็นประธานกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจ.คส.) รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าของการสรรหาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ที่จะทำหน้าที่แทนชุดปัจจุบัน ซึ่งจะครบวาระในเดือนธันวาคมนี้
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติเห็นชอบคำนิยามเชิงปฏิบัติการของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ของประเทศไทย ที่เป็นมติจากการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการกำหนดคำนิยามและความหมายเฉพาะ ทำให้มีปัญหาการตีความทางกฎหมายและการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“การมีคำนิยามที่ชัดเจนนี้ จะช่วยสนับสนุนให้การจัดบริการ การชดเชยค่าบริการ และการพัฒนาระบบดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีการขยายการให้บริการได้เร็วขึ้น สอดคล้องกับความต้องการรับบริการที่เพิ่มมากขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังช่วยทำให้การขับเคลื่อนสิทธิตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน ได้รับการคุ้มครองและเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการได้มากขึ้น” เลขาธิการ คสช. กล่าว
- 122 views