เว็บไซต์ telegraph.co.uk รายงานว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสเปนยืนยันพบการระบาดของเชื้อเดงกีหรือไวรัสไข้เลือดออกผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นกรณีแรกของโลก
ซูซานา จิเมเนส เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเขตกรุงมาดริดแถลงว่า ผู้ป่วยเป็นชายชาวมาดริดวัย 41 ปีซึ่งติดไวรัสไข้เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์กับชายคนรักซึ่งได้รับเชื้อจากการโดนยุงกัดระหว่างท่องเที่ยวในคิวบา
จิเมเนสเสริมว่าผู้ป่วยได้รับการยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แรกสุดนั้นแพทย์ต่างก็สงสัยว่าเขาติดเชื้อได้อย่างไรทั้งที่ไม่เคยเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพระระบาดของไข้เดงกีซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีคล้ายอาการไข้รุนแรง เช่น มีไข้สูง ปวดตามตัว
“คนรักของผู้ป่วยซึ่งเพิ่งกลับจากคิวบาและสาธารณรัฐโดมินิกันมีอาการคล้ายกันแต่รุนแรงน้อยกว่ามาตั้งแต่ช่วง 10 วันก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ” จิเมเนสกล่าว
“ผลการวิเคราะห์อสุจิชี้ว่าผู้ป่วยทั้ง 2 รายต่างก็ติดไวรัสเดงกี และเป็นไวรัสสายพันธ์เดียวกับที่ระบาดอยู่ในคิวบา”
จิเมเนสเสริมว่าบทความวิจัยในเกาหลีใต้ก็รายงานกรณีคล้ายคลึงกันในผู้ป่วยชายและหญิงคู่หนึ่งซึ่งมีแนวโน้มติดเชื้อเดงกีผ่านทางเพศสัมพันธ์
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (อีซีดีซี) แถลงว่ากรณีดังกล่าวเป็นการติดเชื้อเดงกีในหมู่ชายรักร่วมเพศเป็นกรณีแรกของโลก
ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของไวรัสเดงกีพบชุกชุมในเขตร้อนซึ่งมีประชากรหนาแน่นและแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำขัง แต่ละปีคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเดงกีราว 100 ล้านคนและเสียชีวิตราว 10,000 ราย
แม้เดงกีเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเฉพาะในรายที่อาการรุนแรงแต่ก็ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจากอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง และอาเจียน นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการขาดงานและภาระการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดการระบาดรุนแรง
จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าเหตุใดเดงกีจึงเป็นอันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตในผู้ป่วยเด็กโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
เดงกีมักพบในผู้ที่เดินทางไปยังเขตร้อน เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย แคริบเบียน อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
การพัฒนาแนวทางการรักษาเดงกียังคงเป็นเรื่องยากเนื่องจากไวรัสจำแนกเป็น 4 สายพันธุ์ ด้วยเหตุนี้การป้องกันจึงยังคงเป็นมาตรการหลักสำหรับควบคุมโรค
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเดงกีให้หายขาด และวัคซีน Dengvaxia ซึ่งเป็นวัคซีนต้านเดงกีตัวแรกก็ได้ผลเฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อแล้ว
นักวิจัยคาดการณ์ว่าเดงกีหรือโรคไข้เลือดออกจะระบาดข้ามภูมิภาคมากขึ้นในอีก 60 ปีข้างหน้า และชี้ว่าเดงกี (หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “ไข้หักกระดูก” เนื่องจากทำให้เกิดอาการปวดตามข้อ) จะเป็นคุกคามประชากรร้อยละ 60 ของโลกหรือราว 6 พันล้านคนภายในปี 2623
คาดว่าความชุกของเดงกีจะเพิ่มสูงสุดในแอฟริกา ขณะที่หลายภูมิภาคก็หนีไม่พ้นทั้งตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หลายพื้นที่ในยุโรป รวมถึงหลายเมืองในจีนและญี่ปุ่น
ไข้เดงกีมีรายงานการระบาดเพียง 9 ประเทศในช่วงคริสตทศวรรษที่ 70 ก่อนที่จะลุกลามกว่า 100 ประเทศในปัจจุบัน สถานการณ์นี้ทำให้มองได้ว่าประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งต่างอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อไข้เดงกี โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอุบัติการณ์ของเดงกีกำลังเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากหลายปัจจัยทั้งการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็วและขาดการวางแผนที่ดี การคมนาคมข้ามทวีปที่เพิ่มขึ้น และอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีรายงานไวรัสเดงกีระบาดครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ในบังกลาเทศหลังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งตรวจพบผู้ติดเชื้อกว่า 1,300 คนภายใน 24 ชั่วโมง
เนปาลเองก็เพิ่งรายงานการระบาดครั้งใหญ่ของเดงกีเมื่อเดือนกันยายน
ด้านอินเดียได้ตกลงให้ดำเนินการศึกษาการปล่อยยุงตัวผู้ที่ผ่านการฉายแสงเข้าสู่ธรรมชาติ ซึ่งเมื่อยุงดังกล่าวผสมพันธ์กับยุงตัวเมียในสภาพธรรมชาติก็จะทำให้ตัวเมียเป็นหมัน โดยคาดหวังว่าวิธีนี้จะช่วยลดจำนวนยุงในระยะยาว อนึ่ง วิธีการนี้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามในการกวาดล้างแมลงวันเซทซีฟลายอันเป็นพาหะของโรคไข้เหงาหลับในหลายพื้นที่ของแอฟริกา
แปลและเรียบเรียงจาก
First sexually transmitted dengue case confirmed in Spain [www.telegraph.co.uk]
- 17 views