นักวิชาการชี้ ‘มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ’ ช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ทำให้วัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มั่นใจไม่ลองสูบเพิ่ม 13 เท่า หนุน สธ.บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จริงจัง หลังเริ่มบังคับใช้ 10 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวสนับสนุน “มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ’ ของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 โดยกระทรวงสาธารณสุข เริ่มบังคับใช้กฎหมายนี้เมื่อ 10 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ ‘ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย’ และ ‘ประเทศที่ 11 ของโลก’ ที่ใช้กฎหมายดังกล่าว โดยซองบุหรี่แบบเรียบเป็นมาตรการตาม “กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก” ที่ได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติ (ซึ่งไทยเป็นประเทศสมาชิก) เนื่องจากซองบุหรี่แบบเรียบช่วยลดความดึงดูดของซองบุหรี่ ป้องกันไม่ให้ใช้ซองบุหรี่โฆษณา ใช้สีสัน หรือข้อความบนซองบุหรี่สื่อสารข้อมูลผิดๆ เช่น ปลอดภัย หรือมีอันตรายน้อย และทำให้ภาพคำเตือนสุขภาพสื่ออันตรายจากบุหรี่ได้ชัดเจนขึ้น
“ผลการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนไทยต่อซองบุหรี่แบบเรียบ สนับสนุนโดย ศจย. โดยกลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาและนักศึกษาอุดมศึกษา อายุ 15-24 ปี จำนวน 1,239 คน ซึ่งผลการศึกษา พบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนเป็นกลุ่มที่ตอบสนองต่อภาพคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่แบบเรียบมากที่สุด โดยพบมีความมั่นใจไม่สูบบุหรี่เพิ่ม 13 เท่า ส่วนกลุ่มวัยรุ่นที่เคยสูบบุหรี่มาก่อนพบมีความมั่นใจที่จะไม่กลับไปสูบบุหรี่เพิ่มเกือบ 4 เท่า และซองบุหรี่แบบเรียบส่งผลให้วัยรุ่นประมาณ 2 ใน 3 ไม่อยากซื้อบุหรี่มากกว่าซองแบบเดิม และวัยรุ่นประมาณครึ่งหนึ่งเห็นอันตรายจากบุหรี่มากกว่าซองแบบเดิม ดังนั้นจากผลการศึกษานี้ ทำให้มั่นใจว่ามาตรการซองบุหรี่เรียบเป็นอีกมาตรการที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะจะเสริมมาตรการอื่นๆ ในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ของประเทศไทย เช่น ห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาด และห้ามขายบุหรี่แบ่งขายแยกมวน” ศ.นพ.รณชัย กล่าว
- 41 views