แอลกอฮอล์วอช นำหลักฐานยื่น รมว.สธ.กรณีธุรกิจน้ำเมา จงใจใช้โลโก้น้ำดื่ม โซดา เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ที่คล้ายกับโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาใช้โฆษณาแทนเบียร์ เจตนาหลบเลี่ยงกฎหมาย ขณะที่ผลวิจัยชี้ชัดประชาชนกว่า 65% เห็นเป็นโลโก้เบียร์ พร้อมเชียร์เจ้ากระทรวง หาทางออกปิดทางการตลาดสีเทา
เมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2562 เวลา 13.00 น.ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 10 คน เข้าพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเรียกร้องให้หาทางออก กรณีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้กลยุทธ์ตราเสมือนหรือ แบรนด์ DNA จงใจโฆษณาเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้นำรายงานการวิจัย ล่าสุดเพื่อยืนยันปัญหาตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นการตั้งใจหลบเลี่ยงกฎหมายมามอบให้ รมว.สธ.ด้วย
นายคำรณ กล่าวว่า เครือข่ายฯ เป็นองค์กรภาคประชาสังคมมีสมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศ ทำหน้าที่ช่วยกันติดตาม เฝ้าระวัง รณรงค์ให้สังคมเท่าทันกลยุทธ์ธุรกิจสุรา และรณรงค์การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จากการสำรวจทั่วประเทศปรากฏพบป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายจำนวนมาก รวมทั้ง การโฆษณาผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ และทำกิจกรรมการตลาด เช่น จัดดนตรีโดยใช้ศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียง เป็นต้น
นายคำรณ กล่าวด้วยว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งล่าสุด และดำริ รมว.สธ. ให้ดำเนินการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนนั้น เครือข่ายฯ เห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องยืดเยื่อ มาหลายรัฐบาล ไม่ได้มีการจัดการปัญหาอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีการโฆษณาที่หลบเลี่ยงกฎหมายในลักษณะดังกล่าวเต็มบ้านเต็มเมืองจากการที่ท่านมีความมุ่งมั่นและให้การสนับสนุนทางนโยบายอย่างจริงจัง เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดปัญหาการดื่มหน้าใหม่ของเยาวชน โดยควบคุมการโฆษณา การส่งเสริมการขาย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
“เครือข่ายฯขอสนับสนุน รมว.สธ. และขอมอบรายงานการเฝ้าระวังการใช้ตราเสมือนของสินค้าแอลกอฮอล์ที่กำลังกระจายอยู่ทั่วประเทศ พร้อมทั้ง รายงานการวิจัยการรับรู้ประชาชนต่อการโฆษณาโดยใช้ตราเสมือน หรือ แบรนด์ DNA ดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป” นายคำรณ กล่าว
ด้าน เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวว่า จากข้อมูลการวิจัยการรับรู้และการจดจำของประชาชนต่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านแบรนด์DNA หรือตราสัญลักษณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของสินค้าเบียร์กับสินค้าอื่น พบว่า ไม่ว่าธุรกิจแอลกอฮอล์จะปรับแต่งหรือดัดแปลงตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ดังเช่น การดัดแปลงไปใช้กับผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม น้ำแร่ หรือน้ำโซดา ถ้าหากว่ายังมีการใช้แบรนด์ DNA ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเบียร์มาประกอบการโฆษณานั้นๆ ประชาชนที่พบเห็นโดยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 65 ขึ้นไป ก็ยังคงรับรู้และจดจำว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเบียร์อยู่นั่นเอง และส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้ามากกว่าร้อยละ 78 ส่วนในด้านการจูงใจผู้พบเห็นชิ้นงานโฆษณาหรือไม่นั้นส่วนใหญ่รับว่า มีผลในการจูงใจโดยอ้อมกว่าร้อยละ 48 ส่วนอีกร้อยละ 23 ขึ้นไปเห็นว่ามีผลในการจูงใจโดยตรง เว้นแต่กรณีการใช้ แบรนด์ DNA ในการจัดแสดงสินค้า ณ จุดขาย (Display) ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นว่า มีผลในการจูงใจโดยมากกว่า
ทั้งนี้สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือการรับรู้ของเด็กและเยาวชน ที่สามารถเห็นโฆษณาได้ตลอดเวลาแบบนี้ จะสร้างการจดจำ สร้างรู้สึกดีกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อนั้นๆ ส่งผลต่อปัญหานักดื่มหน้าใหม่ที่นับวันอายุยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ
- 73 views