รพ.ชลบุรี ทดลองเฟสแรกโครงการรับยาใกล้บ้านพร้อมเตรียมขยายเฟส 2 เพิ่มร้านยาที่เข้าร่วมโครงการเป็น 22 ร้าน คาดหลัง ต.ค. มีผู้ป่วยสมัครใจไปรับยาที่ร้านยามากขึ้น ด้านเภสัชกรร้านยาปลื้มได้ช่วยงานระบบสุขภาพ ชี้เป็นบทบาทของวิชาชีพที่รอคอยมานาน
นพ.สวรรค์ ขวัญใจพานิช
นพ.สวรรค์ ขวัญใจพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการรับยาใกล้บ้านซึ่งเริ่มคิกออฟเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ว่า ในส่วนของโรงพยาบาลชลบุรีได้เริ่มดำเนินการก่อนกำหนดคือเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2562 โดยใช้โมเดลที่ 1 (โรงพยาบาลจัดยาแล้วส่งไปที่ร้านยา จากนั้นเภสัชกรประจำร้านยาเป็นผู้จ่ายยาให้ผู้ป่วย) ซึ่งในระยะแรกมีร้านยาในพื้นที่ อ.เมืองชลบุรี เข้าร่วมโครงการจำนวน 4 ร้านและมีผู้ป่วยสมัครใจรับยาที่ร้านยาจำนวน 85 คน
นพ.สวรรค์ กล่าวว่า บริบทของโรงพยาบาลชลบุรีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ เน้นรับส่งต่อผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลจะเป็นโรคที่มีความซับซ้อน รักษายาก โดยกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมากและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สามารถคุมอาการโรคได้ในระดับหนึ่งจะถูกส่งต่อไปรับการดูแลที่คลินิกหมอครอบครัวศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองชลบุรี ซึ่งในส่วนของโครงการรับยาที่ร้านยานี้จะเลือกผู้ป่วยใน 2 โรคที่สามารถควบคุมอาการโรคได้ตามเกณฑ์ที่โรงพยาบาลกำหนดคือโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง แพทย์จะแนะนำโครงการนี้แล้วสอบถามความสมัครใจว่าต้องการไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานหรือไม่เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาลบ่อยๆ
"นอกจากต้องคัดกรองผู้ป่วยที่มั่นใจว่าอาการคงที่แล้ว เรายังคัดกรองร้านยา เน้นร้านยาที่มีคุณภาพและมีความตั้งใจก่อนเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าได้ดี ตอนนี้การรับยาที่ร้านยายังเป็นเรื่องใหม่ เราต้องการให้พื้นฐานแน่นๆก่อน ถ้าเสียงตอบรับจากผู้ป่วยชุดแรกดีก็จะทำให้เกิดกระแสให้ผู้ป่วยคนอื่นๆสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าไม่ถูกทอดทิ้ง ช่วงแรกๆเราอาจจะนัดให้มาพบแพทย์บ้างแต่จะค่อยๆนัดห่างออกไปเรื่อยๆจนปีหนึ่งอาจจะมาพบแพทย์แค่ 2 ครั้ง แต่ก็มั่นใจได้ว่าจะมีการติดตามดูแลตลอด หากมีปัญหา เช่น ความดันสูง หรือน้ำตาลในเลือดสูงก็จะมีกระบวนการสื่อสารระหว่างร้านยากับโรงพยาบาลเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะปรับยาหรือให้เข้ามาพบแพทย์ก็ได้" นพ.สวรรค์ กล่าว
ด้าน พญ.สุชาดา อโณทยานนท์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวว่า กระบวนการดำเนินโครงการนี้เป็นการคิดร่วมกันระหว่างทีมของโรงพยาบาล สมาคมเภสัชกรชลบุรี สมาคมร้านยาชลบุรี สมาคมร้านยาภาคตะวันออกและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยหารือกันแล้วร้านยาสะดวกที่จะใช้โมเดลที่ 1 ก่อน ส่วนการคัดเลือกร้านยาเข้าร่วมโครงการนั้น ทั้ง 4 ร้านเป็นร้านยาคุณภาพและขณะนี้อยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลว่าเมื่อคนไข้ไปรับยาที่ร้านยาแล้วเป็นอย่างไร ควบคุมอาการโรคได้ดีหรือไม่ หรือมีปัญหาหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยที่ไปรับยาที่ร้านยังมีน้อย จริงๆแล้วมีคนไข้ที่อาการคงที่และเข้าเกณฑ์ที่ไปรับยาที่ร้านยาได้ประมาณ 1,000 คน แต่ชุดแรกมี 85 คนเพราะช่วงแรกยังมีร้านยา 4 ร้าน จึงต้องทำจำนวนผู้ป่วยให้เหมาะสม แต่คาดว่าหลังเดือน ต.ค.นี้ผู้ป่วยที่ร่วมโครงการจะมีมากขึ้นเพราะจะมีร้านยาที่ผ่านมาตรฐาน GPP เพิ่มเข้ามาอีก 17 ร้านและคนไข้ก็จะทยอยถึงเวลานัดพบแพทย์ ซึ่งเมื่อคนไข้มาโรงพยาบาลตามนัด แพทย์ก็จะแนะนำโครงการแล้วสอบถามความสมัครใจ ก็หวังว่าถ้ากระแสตอบรับดี ผู้ป่วยเห็นประโยชน์ ก็จะมีคนไปรับยาที่ร้านยามากขึ้น" พญ.สุชาดา กล่าว
ภญ.ศุภมนันย์ กวินศิริคุณ
ด้าน ภญ.ศุภมนันย์ กวินศิริคุณ ประธานชมรมเภสัชกรจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่เภสัชกรร้านยาได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลพัฒนาระบบการส่งมอบยาแก่ผู้ป่วย จ.ชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีร้านยามากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร คือมีร้านยาประมาณ 1,200-1,300 ร้าน โดยอยู่ในเขต อ.เมืองชลบุรี ประมาณ 200 ร้าน แต่ในช่วงแรกจะเริ่มที่ร้านยาคุณภาพก่อนจำนวน 4 ร้านเพื่อให้บริหารจัดการได้ง่าย แก้ปัญหา ดูแลได้ทั่วถึง แล้วโรงพยาบาลจะทยอยปล่อยคนไข้มาเรื่อยๆ เฟสต่อไปจะขยายเป็นร้านยาที่ผ่านมาตรฐาน GPP อีก 17 ร้านและร้านยาคุณภาพอีก 1 ร้าน รวมเป็น 22 ร้าน จากเป้าทั้งหมด 29 ร้านในปีนี้
"เท่าที่หารือกันภายในสมาคม ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี เราต้องการเห็นผู้ป่วยได้ใช้ยาอย่างถูกต้องและได้ผลการรักษาที่ดี แน่นอนว่าภาระของเภสัชกรร้านยาเพิ่มขึ้นแต่อีกมุมคือได้บริการคนไข้ตามบทบาทของวิชาชีพ ทำให้การ Flow ของระบบสาธารณสุขครบถ้วนมากยิ่งขึ้น" ภญ.ศุภมนันย์ กล่าว
ด้านนางเมตตา นิตยกัญจ์ อายุ 67 ปี หนึ่งในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มารับยาที่ร้านสมนึกเภสัช กล่าวว่า เมื่อเห็นข่าวโครงการรับยาใกล้บ้านแล้วตนก็สมัครเลยตอนมาพบแพทย์ครั้งล่าสุด เพราะคิดว่าสะดวกไม่รอต้องที่โรงพยาบาลนาน
นางเมตตา กล่าวว่า เดิมเวลาไปรับยาที่โรงพยาบาล 4 เดือนครั้ง แต่ละครั้งรอจนถึงบ่ายกว่าจะได้กลับบ้าน แต่พอมารับยาที่ร้านจะซอยช่วงเวลารับยาเป็นทุกๆ 1 เดือน เวลามารับยาทางเภสัชกรก็จะดูเช็คว่าทานยาครบหรือไม่ วัดความดันว่าปกติหรือไม่
"ก็สะดวกดี บ้านยายอยู่ห่างจากร้านกิโลเมตรเดียวไม่ต้องไปรอที่โรงพยาบาล ตอนรอพบหมอไม่เท่าไหร่ แต่ตอนเสร็จจากหมอแล้วมารอรับยามันก็นานพบสมควร พอรู้ว่ามีโครงการแบบนี้ก็รีบสมัครเลย" นางเมตตา กล่าว
ภญ.สุณีรัตน์ จิราเกรียงไกร
ขณะที่ ภญ.สุณีรัตน์ จิราเกรียงไกร เภสัชกรร้านยาสมนึกเภสัช หนึ่งในร้านที่เข้าร่วมโครงการกับโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวว่า ในมุมของเภสัชกรร้านยาคิดว่าระบบประกันสุขภาพทำให้คนไปรับบริการที่โรงพยาบาลจำนวนมาก ขณะที่เภสัชกรร้านยาก็มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยเหลือได้ บางทีปัญหาการใช้ยาที่ร้านยาพบก็มีมาก การร่วมโครงการจะทำเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลให้เห็นภาพการใช้ยาของคนไข้ในภาพรวมว่าทานยาอะไรบ้าง ทานครบหรือไม่ เป็นต้น
"ตรงนี้ก็เป็นบทบาทของวิชาชีพที่เรารอคอยมานาน แม้จะอยู่ร้านยาแต่เราไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไป แต่เราสามารถส่งมอบเรื่องการดูแลการใช้ยาของคนไข้ได้เต็มที่เหมือนเป็นห้องยาเล็กๆของโรงพยาบาล ก็ดีใจที่ได้ช่วยระบบสุขภาพ ค่าตอบแทนจากการให้บริการ 70 บาทไม่คุ้มหรอกแต่มันทำให้เกิดความภาคภูมิใจมากกว่าว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจริงๆ" ภญ.สุณีรัตน์ กล่าว
- 727 views