“รวมพลังป้องกันการฆ่าตัวตาย” หรือ Working Together to Prevent Suicide คือธีมหลักที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นทิศทางรณรงค์และขับเคลื่อนงาน เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2562 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี
นั่นสะท้อนว่า “การฆ่าตัวตาย” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับมนุษยชาติ
แต่ละปีจะมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยราวๆ 8 แสนราย และเกือบ 80% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในนั้น
ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า ทุก ๆ 40 วินาที จะมี 1 ชีวิตที่มอดดับ และในระหว่างที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ก็จะมีอีกหนึ่ง และอีกหนึ่ง และอีกหลายสิบหนึ่งชีวิต อำลาโลกใบนี้ไปอย่างขมขื่น
ดร.จารุวรรณ สกุลคู
“แต่กว่าที่คน ๆ หนึ่งจะไปถึงจุดที่ฆ่าตัวตายได้ มันมีปัจจัยหลายอย่างเข้าไปกระตุ้น แต่ทุกวันนี้เรามักคุ้นชินการนำเสนอในทิศทางเดียว ว่าการฆ่าตัวตายเป็นผลมาจากโรคซึมเศร้า ถูกรังแก หรือโดนบูลลี่” ดร.จารุวรรณ สกุลคู อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำความเข้าใจ
อาจารย์จารุวรรณ ยังได้ฉายภาพสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตต่อไป โดยเทียบเคียงกับโครงสร้าง “พีระมิด” เพื่ออธิบายว่า แท้ที่จริงแล้วผู้ป่วยจิตเวชจะอยู่เฉพาะส่วนยอดของพิระมิดเท่านั้น ขณะที่ส่วนฐานเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี นั่นเป็นเพราะทุกวันนี้คนมีความตื่นตัวและใส่ใจสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในแต่ละวันเราต้องเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ที่นำมาซึ่งความเครียด-ความกดดัน ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงานที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ การหาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาทางการเงิน ปัญหาการตกงาน รวมถึงการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีความรุนแรง
ยังไม่นับความท้าทายของแต่ละช่วงวัย เช่น วัยรุ่น เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ การค้นหาตัวเอง หรือวัยทำงาน-วัยเกษียณ ที่จะมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ทางสังคม ฯลฯ
เหล่านี้ นับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ่อนไหว และเร่งเร้าให้เกิดความเครียด ความกดดัน วิตกกังวล อารมณ์เศร้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเท่าทันแล้วก็จะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้ ในทางกลับกันหากเราช่วยกันสร้างสังคมที่ดี สังคมที่ปลอดภัย ก็จะทำให้สุขภาพจิตของคนในสังคมดีขึ้น
“จริง ๆ แล้วสังคมเรามีปัจจัยป้องกันที่ค่อนข้างเยอะ เช่น การดูแลกันเองของคนในสังคม ความตื่นตัวต่อปัญหาสุขภาพจิต ความเข้าใจและให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กวัยรุ่น ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยให้ปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคมได้รับการดูแล” ดร.จารุวรรณ ระบุ
สิ่งที่นักวิชาการด้านจิตวิทยารายนี้เน้นย้ำก็คือ การมาพบนักจิตวิทยานั้นไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งล้มป่วย เพียงแค่รู้สึกว่ามีเรื่องที่อยากจะมีคนช่วยคิด อยากให้ใครฟัง หรือมีเรื่องที่ไม่สบายใจ ก็สามารถมาพบนักจิตวิทยาได้แล้ว
นอกจากนี้ หากต้องการได้ความเห็นจากคนที่เราไม่รู้จักเลย ก็สามารถพูดคุยกับนักให้คำปรึกษา (Counselors) ได้ ซึ่งการพูดคุยกับนักจิตวิทยานั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาหรือคับข้องใจเท่านั้น หากแต่ผู้ที่ต้องการพัฒนาตัวเอง ยกระดับศักยภาพตัวเอง รวมไปถึงการปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลจากการเจ็บป่วย หรืออยากมีสุขภาพจิตเชิงบวก ก็สามารถพูดคุยกับนักจิตวิทยาได้ทั้งสิ้น
แพทย์หญิงมุทิตา พนาสถิต
สอดคล้องกับ แพทย์หญิงมุทิตา พนาสถิต รองหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคทางจิตเวชคือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับการควบคุมอารมณ์ กระบวนการคิด หรือพฤติกรรม โดยจะแสดงออกผ่านทางอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่ผิดปกติจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีสาเหตุมาจากทั้งการพัฒนาการของสมองที่ผิดปกติ ความผิดปกติของสารสื่อประสาท รวมถึงปัจจัยทางจิตสังคม เช่น ปัญหาในชีวิต การเลี้ยงดู ลักษณะนิสัย และประสบการณ์ในอดีต
สำหรับโรคทางจิตเวชนั้นมีหลายโรค อาทิ กลุ่มโรคจิต (psychotic disorders) ได้แก่ โรคที่มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ความคิดหลงผิด หรือพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ไม่สมเหตุผล โดยผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้จะไม่สามารถแยกแยะความจริงได้ ฉะนั้นส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังป่วย
ขณะที่ผู้ป่วยด้วยกลุ่มโรคอื่น ๆ เช่น กลุ่มโรคทางอารมณ์ (mood disorders) ได้แก่ โรคซึมเศร้า (depressive disorders) โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorders) รวมไปถึง กลุ่มโรควิตกกังวล (anxiety disorders) มักจะรู้ตัวว่าตัวเองกำลังผิดปกติไปจากเดิม
“คนทั่วไปอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นเป็นปกติ กับอารมณ์เศร้าที่เป็นอาการจากโรค แต่เมื่อใดก็ตามที่อาการเหล่านั้นส่งผลกระทบหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็จำเป็นต้องให้แพทย์ทำการวินิจฉัยเพื่อให้การรักษาต่อไป” พญ.มุทิตา กล่าว
ในปี 2563 หรือ 1 ปีข้างหน้านับจากนี้ องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องลดอัตราการเสียชีวิตลงให้ได้ 10% ของอัตราการเสียชีวิตในปี 2562 ซึ่งสำหรับเราทุกคนแล้ว นอกจากการดูแลร่างกายให้ดีซึ่งจะสัมพันธ์ไปถึงจิตใจที่ดี ยังจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อจิตแพทย์เสียใหม่
การพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย เพราะร่างกายป่วยได้-จิตใจก็ต้องป่วยได้ แต่น่าแปลกที่เรากลับเลือกรักษาเพียงร่างกาย โดยละเลยความเจ็บไข้ทางจิตใจมาอย่างยาวนาน
- 203 views