สสส.เดินหน้าเสริมศักยภาพผู้นำท้องถิ่นสร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากร แก้ปัญหา 10 ด้าน ยกตัวอย่างปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เหตุมาจาก “หนี้สิน-ตกงาน-เหล้า-บุหรี่” ขณะที่ปัญหาอาหารปลอดภัย สารเคมีเกษตรกรรมยังต้องจัดการ
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในเวที“สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นวาระสร้างสุขภาวะ13 กลุ่มประชการกร” ระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2562 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อกระตุ้นกลไกการทำงานในพื้นที่ พร้อมเสริมศักยภาพผู้นำท้องถิ่นเพื่อสร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากร ประกอบด้วย เด็ก0-2 ปี เด็ก 3-5 ปี เด็ก 6-12 ปี เด็กและเยาวชน หญิงตั้งครรภ์ วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย คนพิการ และผู้ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งทั้งหมดมีแนวทางในการทำงาน 10 ประเด็นสุขภาวะ ดังนี้ 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 2.การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน 3.การเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว 4.การจัดการขยะ 5.การจัดการภัยพิบัติ โดยพบว่าภัยแล้งกับน้ำท่วมเป็นปัญหาภัยพิบัติพบมากสุด และระยะยาวจะมีเรื่องพายุ นำไปสู่น้ำท่วมเช่นกัน อีกทั้ง พบว่าครัวเรือน 34% ได้รับผลกระทบภัยพิบัติธรรมชาติ
ภาพจากเฟซบุ๊ก สสส.
น.ส.ดวงพร กล่าวว่า 6.การดูแลสุขภาพชุมชน 7.การจัดการอาหารชุมชน 8.เศรษฐกิจชุมชน 9.การควบคุมการบริโภคยาสูบและสารเสพติด และ 10.ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุจราจร จาก 10 ประเด็นดังกล่าว เราต้องใช้ประโยชน์จากองทุนสุขภาพระดับตำบลมาทำงานเหล่านี้ แม้เงินไม่เยอะ แต่ต้องบริหารจัดการใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด อย่างในเรื่องการจัดการปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ผ่านมามีการวิเคราะห์พบว่า ครัวเรือนมีหนี้สิน 51.4 % วัยทำงานว่างงาน 6.1 % ประกอบกับมีการดื่มสุรา และสูบบุหรี่ร่วมด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งของความรุนแรง ดังนั้น การแก้ปัญหาจำเป็นต้องแก้ปัญหาทางอ้อมตรงจุดนี้เพื่อไปแก้ปัญหาความรุนแรงโดยตรง การแก้ปัญหาก็มีการดำเนินการต่างๆ อาทิ การสนับสนุนการดูแลช่วยเหลือครอบครัว การตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยปัญหาครอบครัว จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาครอบครัว เป็นต้น
“การจัดการอาหารในชุมชนก็เป็นสิ่งสำคัญ เราพบว่าพื้นที่เกือบ 30% ทำเกษตรกรรม และยังพบว่า มีครัวเรือนที่ใช้สารเคมี 12.5% ดังนั้น ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาและใช้ข้อมูลเพื่อเกษตรและอาหารชุมชนปลอดภัย นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการดูแลสุขภาพในชุมชน ยังเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะยังพบผู้ป่วยเจ็บป่วยเรื้อรัง 7 % ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดข้อ ข้อเสื่อม โรคหัวใจ ฯลฯ” น.ส.ดวงพร กล่าว
นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่3 สสส. กล่าวว่า ในการดำเนินการพัฒนาสุขภาวะในพื้นที่จำเป็นต้องมีผู้นำชุมชน ซึ่งภาวะผู้นำจึงเป็นเรื่องที่ สสส.ให้ความสำคัญ ทั้งการฝึกบุคลากรของชุมชนท้องถิ่นให้มีภาวะความเป็นผู้นำ เพื่อพัฒนาส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในพื้นที่ได้ โดยความเป็นผู้นำประกอบด้วย 10 ประการ ดังนี้ 1.คำนึงประโยชน์ส่วนรวม 2.ตั้งใจเอาใจใส่รับผิดชอบต่อหน้าที่ 3.ซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้ 4.รักษาไว้ซึ่งคุณธรรม มีจริยธรรมไม่เลือกปฏิบัติ 5.คิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่หยุดนิ่ง 6.ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายทุกภาคส่วน 7.เรียนรู้และพฒนาด้วยข้อมูลที่เป็นจริง 8.ประพฤติตนให้เป็นที่ยอมรับ 9.ร่วมสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่นรุ่นใหม่ และ10. สร้างและสร้างเครือข่ายในหลากหลายลักษณะ
- 61 views