ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทยเตรียมจัดงานประชุมวิชาการ "เภสัชกรรมในอนาคต" วันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 2562 นี้ หวังแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Best Practice นำไปสู่การขยายผลเพื่อความปลอดภัยด้านยาของผู้ป่วย

ภก.ปิยะเชษฐ์ จตุเทน ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย (ภรพช.) เปิดเผยว่า ภรพช.เตรียมจัดงานประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานในหัวข้อ "เภสัชกรรมในอนาคต" ณ โรงแรมเซ็นทารา แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 2562 โดยงานนี้เป็นการจัดครั้งแรกของชมรม โดยตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประมาณ 500 คน

ภก.ปิยะเชษฐ์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบรางวัลให้กับโรงพยาบาลที่มีผลการประเมินความปลอดภัยด้านยาดีเด่นระดับประเทศ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงานและอยากทำให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีก ซึ่งรางวัลก็ไม่ได้จำกัดแค่เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนอย่างเดียว ผลการประเมินความปลอดภัยด้านยาที่ได้มาตรฐานดีเด่นมีทั้งจากโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปเป็นอันดับหนึ่งในหลายๆจังหวัดคละกันไป

นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังจะมีการนำเสนอนวัตกรรมเด่นจากพื้นที่ต่างๆมาแสดงเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายผลเรื่องความปลอดภัยด้านยาของผู้ป่วย ตลอดจนเป็นการนำเสนอผลงานให้เป็นที่รับทราบของสาธารณะชนว่าแวดวงเภสัชกรมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำเสนอให้ผู้หลักผู้ใหญ่เห็นว่าได้ทำอะไรไปบ้าง

ภก.ปิยะเชษฐ์ ยกตัวอย่างนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบ Pop up เพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ คนไข้ที่ได้รับยาบางชนิดแล้วอาจมีปัญหากับยาอื่นๆอีกหลายตัว เช่น ภูมิลำเนาอยู่ที่หนึ่งแล้วไปรับบริการในโรงพยาบาลที่ต่างจังหวัด ถ้าแพทย์ไม่รู้ว่าคนไข้ได้รับยาเหล่านี้แล้วได้รับยาอื่นเสริมเข้าไปอีกก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับคนไข้มากขึ้น ซึ่งระบบนี้ก็จะสามารถช่วย Pop up เพื่อเตือนขึ้นมาได้

หรือระบบการควบคุมอุณภูมิและความชื้นเพื่อให้การจัดเก็บยาเป็นไปอย่างมีมาตรฐานตามหลักวิชาการ เป็นระบบการ Detect ข้อมูลแล้วแจ้งเตือนเข้าไลน์หรือเฟสบุ๊คของผู้รับผิดชอบเมื่ออุณหภูมิห้องยาออกนอกช่วงที่กำหนดไว้ ทำได้กระทั่งว่า สมมุติตั้งอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส พอแตะ 28 องศาเซลเซียสก็สั่งเปิดแอร์เลย เป็นต้น

"เราคาดหวังว่าผลงานที่นำมาเสนอจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมงานซึ่งอยู่ในภาคปฏิบัติ สามารถเอาไปใช้ได้จริงที่หน้างาน เป็นการยกระดับจาก Best Practice ในแต่ละที่ ถ้ามีการนำไปขยายผล แน่นอนว่าการควบคุมยาให้มีคุณภาพทุกที่น่าจะเหมือนกัน คนไข้ได้ประโยชน์ ความปลอดภัยของประชาชนก็น่าจะได้รับเหมือนๆกัน"

ภก.ปิยะเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาคืองานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือของเภสัชกร แต่ละปีได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกันสักครั้ง อาจทำให้มีแนวทางหรือแนวคิดใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งจะได้สะท้อนปัญหาให้ผู้หลักผู้ให้รับทราบและสนับสนุนการแก้ปัญหา ตลอดจนแสดงให้สาธารณชนได้เห็นว่าวงการเภสัชกรรมได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง