สมาคมโรคไตนานาชาติ หารือ สปสช.ระหว่างงานสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 74 ต่อยอดความสำเร็จดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายของไทย เตรียมศึกษาชะลอความเสื่อมของไต เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และช่วยคุมงบประมาณในระบบ
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 เมื่อเวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ศ.นพ.วิเวกอานันท์ จาห์ (Prof.Vivekanand Jha) ประธานสมาคมโรคไตนานาชาติ (The International Society of Nephrology: ISN) ได้หารือกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ศ.นพ.จาห์ กล่าวว่า สมาคมโรคไตนานาชาติมีสมาชิกกระจายทั่วโลกกว่า 8,000 คน มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกให้มีความเข้มแข็งในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังทั่วโลกราว 850 ล้านคนทั่วโลก แต่ยังประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการ อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะจำนวนเพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลมาจากภาวะแทรกซ้อนทางไตของผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง แต่ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง
“แม้ว่าตอนเริ่มต้นระบบ สิทธิประโยชน์ของไทยจะยังไม่ครอบคลุมโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย แต่ไทยก็ใช้เวลาไม่นานขยายสิทธิประโยชน์ได้ครอบคลุม และบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขของไทย สมาคมโรคไต เครือข่ายผู้ป่วย จนประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ล้มละลายจากการต้องจ่ายค่าฟอกไต ทางสมาคมโรคไตนานาชาติจึงมีความสนใจที่จะมีความร่วมมือด้านวิชาการที่จะศึกษาเชิงระบบการชะลอความเสื่อมจากโรคไตวายเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และช่วยคุมงบประมาณได้ ซึ่งหากทำได้จะเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆ ในการบริหารจัดการเพื่อผู้แลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังต่อไป” ประธานสมาคมโรคไตนานาชาติ
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า แม้ว่านานาชาติจะยกย่องความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังของไทย แต่เราก็ยังมีความท้าทายของจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้งบประมาณกองทุนไตวายเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย กรณีที่สมาคมโรคไตนานาชาติสนใจที่จะร่วมมือด้านวิชาการเพื่อศึกษาเชิงระบบการชะลอความเสื่อมจากโรคไตวายเรื้อรังนั้น สปสช.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังลงได้ ที่สำคัญช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการไตเสื่อม ไม่ต้องเข้าสู่ระยะการเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยหลังจากนี้ทาง สปสช.จะประสานความร่วมมือไปยังสมาคมโรคไตของไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และชมรมเพื่อนโรคไต เพื่อนัดหมายหารือร่วมกับสมาคมโรคไตนานาชาติอีกครั้ง
- 622 views