สคล.ร่วมภาคีเครือข่ายเปิดวงจรอันตรายพบภาวะเสี่ยงเพิ่มกว่า 3.3 เท่า หวั่นเด็กโตขึ้นสร้างปัญหาสังคม “ทิชา” ย้ำบ่อเกิดหน่อ เชื้อความรุนแรง เด็กผลิตซ้ำเป็นลูกโซ่ ด้านกรมพินิจฯเดินหน้าทำงานเชิงรุกสกัดนักดื่มหน้าใหม่

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่เดอะฮอล์บางกอก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก กระทรวงยุติธรรม ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “สถานการณ์ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนไทยในครอบครัวนักดื่ม”

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรมพินิจฯเป็นหน่วยงานหลักมีนโยบายตามภารกิจ 3 ระยะ คือ ระยะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำซึ่งเป็นการติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชน การดำเนินการระยะต้นน้ำ เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมจากเด็กและเยาวชน กรมพินิจฯได้ ยกระดับการบริการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ประชาชน ครอบครัวของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงด้านพฤติกรรม ให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาผ่าน คลินิกให้คำปรึกษาเด็กและเยาวชนครอบครัวอบอุ่น ทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งเร่งทำงานวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เพื่อให้เห็นสถานการณ์ปัญหาความเปราะบาง ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชน ให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นถึงความเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกมิติ โดยจะสำรวจจากเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจ เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบการทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น” นายสหการณ์ ระบุ

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีล่าสุด (2560) โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า เด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี หรือกลุ่ม “นักดื่มหน้าใหม่” จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด ที่ระบุว่าดื่มสุราในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยนักดื่มประจำและนักดื่มหนักมีสัดส่วนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (นักดื่มประจำ ข้อมูลปี 2557 จำนวน 703,885 คน ปี 2560 จำนวน 684,598 คน ส่วนนักดื่มหนัก ข้อมูลปี 2557 จำนวน 1,122,797 คน ปี 2560 จำนวน 1,005,462 คน

 หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกัน ในวันข้างหน้าประเทศไทยอาจมีเยาวชนที่เป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มมากขึ้น ข้อสำคัญประเทศไทยยังขาดนโยบายเปลี่ยนแปลงมาตรการควบคุมการผลิตเบียร์เชิงอุตสาหกรรมภายในประเทศที่น่ากังวล และเป็นอุปสรรคต่อการลดจำนวนกลุ่มเยาวชนที่เป็นนักดื่มหน้าใหม่ ขณะที่งานวิจัยเรื่องยุทธศาสตร์ลดการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก เคยสำรวจข้อมูลความสัมพันธ์ของการดื่มกับการกระทำผิด พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเกือบครึ่ง ร้อยละ 40.8 มีกระทําความผิดภายใน 5 ชั่วโมงหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับฐานความผิด มีความสัมพันธ์กับการกระทําความผิดฐานอาวุธและวัตถุระเบิดอย่างมีนัยสําคัญ  

ด้าน ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอผลงานงานวิจัย ภัยเหล้าที่เราไม่ได้ดื่มโดย โดยระบุว่า งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย (Thailand Alcohol’s Harm to Others project) ซึ่งศึกษาการได้รับผลกระทบมือสองหรือผลกระทบด้านลบจากการดื่มในมิติต่าง ๆ ของคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน และเพื่อนร่วมงานของผู้ดื่ม รวมทั้งผลกระทบจากการดื่มของคนแปลกหน้าในสังคมต่อบุคคลอื่นที่อยู่รอบข้าง การศึกษานี้เก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์ต่อหน้าในกลุ่มประชากรไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,695 คน ที่อาศัยอยู่ในจังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร

“ผลการศึกษาในส่วนผลกระทบมือสองของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อเด็กและเยาวชน จากกลุ่มตัวอย่าง 937 คนที่มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีภายใต้การดูแล พบว่า ร้อยละ 25 รายงานว่าเด็กในความดูแลของตนเคยได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกฮอล์ของใครบางคนอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เด็กที่ดูแลถูกดุด่าอย่างรุนแรงร้อยละ 7.4 เด็กที่ดูแลอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ร้อยละ 7.4 ที่ดูแลถูกทอดทิ้ง/ถูกปล่อยให้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 3.5 หรือเด็กที่ดูแลถูกตี/ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 1.7 นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 23% ของเด็กและเยาวชนพักอาศัยอยู่ในครอบครัวไหนที่มีคนดื่มอย่างหนัก โดยเด็กในครอบครัวนี้จะมีโอกาสได้รับผลกระทบมากขึ้นเป็น 3.3 เท่าของครอบครัวที่ไม่มีคนดื่มหนักในบ้าน”  ภญ.อรทัย กล่าว

ภญ.อรทัย กล่าวว่า ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้ จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงต่อเด็กซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจ คุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ตลอดจนส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของแอลกอฮอล์ที่ซ่อนอยู่ในระดับครอบครัวจากการดื่มของสมาชิกในครัวเรือนซึ่งจัดเป็นทั้งปัญหาสังคม ปัญหาสาธารณสุขและเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิเด็ก ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญแก่สังคมมากขึ้น

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากข้อมูลงานวิจัย เป็นที่ประจักษ์อีกครั้งว่า ครอบครัวที่มีนักดื่มนั้น การผลิตซ้ำซึ่งความรุนแรงจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จนกว่าจะถึงจุดแตกหักในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีนัยยะไม่ต่างจากใบอนุญาตให้เด็กๆใช้มันต่อไปหรือผลิตซ้ำได้ งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีความชอบธรรมที่จะนำไปสู่นโยบายในเชิงป้องกัน เชิงเยียวยาอย่างเป็นระบบ เช่น 1.พ่อแม่หรือครอบครัวที่เป็นนักดื่มต้องเข้าถึงการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ 2.การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวต้องไม่เน้นการรักสถาบันครอบครัวแต่ต้องเน้นการปกป้องผู้ถูกกระทำ 3.องค์กรที่รับผิดชอบเยาวชนที่ผ่านความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นระดับถูกกระทำ ระดับรู้เห็นหรือประจักษ์พยาน ต้องไม่ซ้ำเติมหรือผลิตซ้ำความรุนแรงกับเยาวชนโดยเด็ดขาด เพื่อปฎิบัติการเพื่อสื่อสารกับเยาวชนอย่างตรงไปตรงมาบนความเคารพในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์