การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานของวงการสาธารณสุขไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ขยายตัวขึ้นอย่างไม่หยุดนิ่ง ด้วยเพราะประโยชน์หลายประการจากการทำหัตถการในระบบนี้
ที่ผ่านมาการดำเนินงาน ODS ได้ก่อตัวขึ้นในหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งพบทั้งความสำเร็จ ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ที่มีการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกันท่ามกลางบุคลากรในวงการแพทย์ เพื่อช่วยกันพัฒนาสู่เป้าหมายอีกขั้นของ การผ่าตัดแผลเล็กหรือผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery: MIS)
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 กรมการแพทย์จัดการประชุมสัมมนาวิชาการ “ODS: Next Step To MIS 2019” โดยได้มีการนำเสนอ “ผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค & Burden ทางวิสัญญีแพทย์และวิสัญญีพยาบาล แผนการในอนาคตของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข” จากตัวแทนผู้ดำเนินงานในโรงพยาบาลต่างๆ
เริ่มจาก นพ.สมเจตน์ นาคทอง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลลำพูน เล่าว่า นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลมีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดแบบ ODS เป็นอัตราส่วน 92% โดยในจำนวนแพทย์ 89 คน เป็นแพทย์ในโครงการ ODS รวมทั้งสิ้น 28 คน
สำหรับเหตุผลที่โรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ ODS เขาระบุว่ามี 3 ด้าน คือ ในด้านของแพทย์ สามารถใช้พลังในการผ่าตัดได้เต็มที่ ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายกับระบบที่เปลืองกำลังการทำงาน ด้านของโรงพยาบาล ช่วยลดพลังของบุคลากรที่ไม่ต้องนั่งทำงานเอกสารโดยไม่มีความจำเป็น รวมถึงความสูญเสียแฝงมากมายจากการรับแอดมิท ขณะที่ด้านของผู้ป่วย ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
ขณะที่ มะชัยดี เจ๊ะอุมา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลปัตตานี ชี้แจงว่า ผลการดำเนินงาน ODS ของโรงพยาบาลในปี 2561 มีคนไข้ร่วมโครงการ 44 ราย และเพิ่มเป็น 111 รายในปี 2562 ซึ่งจากการคำนวณงบประมาณที่ใช้ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ผู้ป่วยต้องแอดมิททั้งหมด พบว่าโครงการสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ประมาณ 7 แสนบาท
ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคที่พบในช่วงเริ่มต้น คือการที่ยังไม่มีระบบงาน รวมถึงอัตรากำลังยังไม่เพียงพอในการดูแลงาน ODS โดยเฉพาะ และบุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยและญาติเองยังขาดความมั่นใจในการเตรียมตัวและดูแลตัวเองที่บ้าน จึงได้มีการแก้ไขด้วยแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้ ODS เป็นงานประจำ การจัดทำคู่มือให้ความรู้แจกจ่าย รวมถึงการจัดตั้ง ODS Unit และจัดเตียงผู้ป่วยพักฟื้นสำรองไว้ เป็นต้น
สำหรับแผนพัฒนาต่อไปของทางโรงพยาบาล คือการจัดตั้งคลินิกประเมินก่อนผ่าตัด หรือ Pre-Anesthetic Clinic บูรณาการข้อมูลด้านวิสัญญีและการผ่าตัด รวมถึงประสานหน่วยรถเพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมาย 82% ของพื้นที่จังหวัดปัตตานี และการแชร์ข้อมูลกับ Home Health Care Systems เพื่อประเมินคนไข้ตามโปรแกรม
ในส่วนของ พญ.วาสนา คำผิวมา ศัลยแพทย์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ระบุว่าการดำเนินงาน ODS ในกลุ่มโรงพยาบาลเขต 2 นั้น พบว่าโรงพยาบาลจากทั้ง 5 จังหวัด คือ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก และสุโขทัย มีการเข้าร่วมทั้งหมด ซึ่งการพัฒนา ODS ไปสู่โรงพยาบาลเครือข่ายที่ผ่านมา ต่างพบว่ามีอัตราผู้ป่วยในและการครองเตียงลดลง
สำหรับจุดเปลี่ยนของโรงพยาบาลในการดำเนินงาน ODS เนื่องจากภาระงานของบุคลากรที่ล้นมือ โดยเฉพาะพยาบาลที่มีจำนวนเพียง 54% จากปริมาณที่ควรจะมี ซึ่งภายหลังการพัฒนางาน ODS ไปสู่โรงพยาบาลเครือข่ายนั้น ทำให้อัตราผู้ป่วยที่ต้องเข้ามา รพ.พุทธชินราช น้อยลงชัดเจน ทำให้โรงพยาบาลมีเวลาดูแลเคสที่ซับซ้อนมากกว่า ทำหน้าที่ได้ตามหลักของโรงพยาบาลตติยภูมิ
พญ.วาสนา ระบุว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสามารถทำ ODS ได้ 36% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 73.6 ล้านบาท และคาดว่าหากทำครบ 100% จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 220 ล้านบาท โดยในปี 2561 รพ.พุทธชินราช มีการทำหัตถการ ODS มากที่สุดในประเทศ อยู่ที่ 458 ราย และของปี 2562 นับไปแล้ว 494 ราย จึงเชื่อว่ายังเป็นอันดับหนึ่งอยู่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงมีข้อท้าทายที่สามารถเพิ่มศักยภาพได้อีก
ในส่วนข้อจำกัดของ ODS คือการไม่มีสถานที่ให้ความรู้และตรวจร่างกายผู้ป่วยเป็นสัดส่วนโดยเฉพาะ ผู้ป่วยต้องเดินกลับไปมาระหว่างห้องปฏิบัติการกับห้องตรวจ ขาดแคลนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการดำเนินงานและขาดบุคลากรที่รับผิดชอบเฉพาะด้าน ODS ดังนั้นแผนพัฒนาขั้นต่อไปของโรงพยาบาลคือการแบ่งชั้นเพื่อจัดตั้งศูนย์ ODS โดยเฉพาะ พร้อมเตรียมอัตรากำลังประจำศูนย์ เป็นต้น
ด้าน พญ.สุจิตรา นันทประเสริฐ ผู้แทนทีมแพทย์ โรงพยาบาลอุดรธานี เล่าว่า เนื่องจากความแออัดของผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลจึงได้เริ่มต้นจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยผ่าตัดแบบไม่ค้างคืน หรือ Udonthani hospital Day Surgery Center (UDSC) ขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ก่อนที่จะมีโครงการ ODS และเมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มต้นโครงการ ODS ในปี 2561 จึงได้เข้ามาร่วมด้วย
ทั้งนี้ ความแตกต่างคือ UDSC จะให้บริการที่หลากหลายกว่าเพียง 24 กลุ่มโรคในปัจจุบัน รวมถึงสิทธิในการรักษาที่เปิดให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมจ่ายด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มมีโครงการ ODS ได้ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วย ที่มารับบริการลดน้อยลง โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาให้ ODS เกิดขึ้นในกลุ่มโรงพยาบาลเขต 8 ทั้ง 7 จังหวัด ที่มีการกระจายงานกัน ทำให้สามารถไปผ่าตัดในพื้นที่อื่นได้
พญ.สุจิตรา กล่าวว่า สิ่งที่โดดเด่นนับตั้งแต่ตอนทำ UDSC คือการมี Pre-anesthetic clinic ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากมีความหลากหลายของหัตถการที่ต้องทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย จึงเกิดเป็นความสำเร็จในการลดจำนวนของผู้ป่วยที่ต้องแอดมิทหลังผ่าตัดได้ ตลอดจนความพึงพอใจของผู้ป่วยที่พบว่าสูงถึง 97%
ปิดท้ายด้วย นพ.วิโรจน์ โยมเมือง ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลสตูล ระบุว่า การดำเนินงาน ODS ของโรงพยาบาลได้ช่วยลดปริมาณการแอดมิทที่ไม่จำเป็นได้มากขึ้น โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดใช้ระยะเวลานอนเฉลี่ยจาก 3 วัน เหลือ 1.5 วัน และหากคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายจะพบว่าที่ผ่านมา ODS ได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้ประมาณ 1.19 ล้านบาท
นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ในส่วนการจะก้าวต่อจาก ODS สู่ MIS นั้น เชื่อว่าแพลทฟอร์มที่สร้างขึ้นจะสามารถนำมาสวมทับได้ โดยขึ้นกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล ทั้งความพร้อมเครื่องมือและแพทย์ ซึ่งเป้าหมายนอกจากการทำให้เป็น Smart Hospital แล้ว ในฐานะศัลยแพทย์อาจต้องมองถึงเรื่อง Smart Surgery คือระบบที่รวดเร็ว ฉับไว คนไข้นอนเท่าที่จำเป็น ดังนั้นสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นทิศทางดีที่เดินมากันถูกต้องแล้ว
- 876 views