พยาบาล ER วอนผู้มีอำนาจเร่งกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความปลอดภัยในระหว่างการส่งตัวคนไข้ที่เป็นจริงเสียที ชี้อุบัติเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งโครงสร้างรถไม่ปลอดภัย ไม่มีการยึดตรึงอุปกรณ์บนรถ คนขับรถควงเวร
สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายสุขภาพ จัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย วันที่ 17 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในเวทีเสวนามีหัวข้อ "Patient and Personnel Safety Speak Up สัมผัสเรื่องราว Patient and Personnel Safety Goals จากบทเรียนสำคัญและนำสู่การปฏิบัติ" ซึ่งเป็นการเชิญทั้งผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานมาบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับเกี่ยวกับความปลอดภัย
น.ส.ศุภลักษณ์ ชารีพัด พยาบาลห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวในประเด็นเรื่อง "เมื่อเธอต้องไป Refer แล้วเธอก็ไม่ได้กลับมาเจอกัน..อีกเลย” โดยระบุว่าหลายเหตุการณ์ที่เป็นข่าวรถ Refer เกิดอุบัติเหตุ ทำให้สูญเสียบุคลากรเพื่อนร่วมอาชีพ ก่อให้เกิดความรู้สึกสั่นสะเทือนใจทุกครั้ง ตนรู้สึกสะท้อนใจเมื่อได้รับคำสั่งให้ไปส่งตัวคนไข้นอกโรงพยาบาลซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกลางดึกหรือในภาวะวิกฤติของคนไข้ คำถามแรกที่ถามตัวเองคือทำไมเราต้องไป ไปวันพรุ่งนี้ได้หรือไม่ ทำไมไม่ Refer กลางวัน แต่คำตอบก็ดังกึกก้องอยู่ในหัวเช่นกันว่าคนไข้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ด้วยวิชาชีพและความปลอดภัยของคนไข้ สิ่งที่ต้องทำคือเตรียมอุปกรณ์ต่างๆให้พร้อม ประสานงานแล้วนำส่งคนไข้
น.ส.ศุภลักษณ์ ยกตัวอย่างกรณีที่ตนได้ร่วมทีมสอบสวนอุบัติเหตุรถพยาบาลของโรงพยาบาลร้อยเอ็ด น้องพยาบาลมาส่งคนไข้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจาก จ.ร้อยเอ็ดมา จ.ขอนแก่น แต่ประสบอุบัติเหตุระหว่างการนำส่งตอนตี 4 น้องคนนี้เพิ่งเริ่มทำงานได้ 1 ปีแต่ต้องมาเสียชีวิตลง ทุกอย่างที่พ่อแม่คาดหวังไว้พังทลายลง หรือของโรงพยาบาลขอนแก่นเองก็เคยมีกรณีรถขับมาชนรถ Refer เพราะคนขับก้มลงหยิบของทำให้ละสายตาจากถนนไปชั่วขณะ แม้น้องพยาบาลบนรถจะไม่ถึงกับเสียชีวิตแต่ก็ได้รับความกระทบกระเทือนต่อสมอง มีผลต่อการใช้ชีวิตและสมรรถนะการทำงานลดลง
น.ส.ศุภลักษณ์ กล่าวอีกว่า ศพแล้วศพเล่าที่เสียชีวิตเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น พนักงานขับรถควงเวร พนักงานขับรถมีโรคประจำตัว รถมีโครงสร้างไม่ปลอดภัย ไม่มีโรลบาร์ เวลาชนแต่ละทีเหล็กก็ยุบเข้ามา เข็มขัดนิรภัยบนรถรัดแค่หน้าขา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อยู่บนรถหล่นกระแทกเพราะไม่มีการยึดตรึง เป็นต้น
"อุปกรณ์ในรถไม่มีความปลอดภัยแต่ทุกวันนี้เราต้องใช้เพราะไม่มีทางเลือก อย่างคนไข้ระดับสีแดงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องวัดสัญญาณชีพต่างๆ ทุก 15 นาที แต่เวลาจะลุกขึ้นวัดทีก็ต้องปลดเข็มขัดนิรภัยที การต้องปลดเข็มขัดนิรภัยเพื่อลุกมาวัดสัญญาณชีพก็เป็นความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าวินาทีไหนจะเกิดอุบัติเหตุ" น.ส.ศุภลักษณ์ กล่าว
น.ส.ศุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อไหร่ถึงจะหยุดความสูญเสียเหล่านี้เสียที ในฐานะที่เป็นผู้ใช้ชีวิตอยู่บนรถ Refer ตนขอเป็นตัวแทนวิงวอนผู้มีอำนาจตัดสินใจให้มีการกำหนดนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและทำให้ชีวิตของผู้ปฏิบัติงานมีปลอดภัยมากขึ้น เราต้องสูญเสียอีกมากเท่าไหร่กับโครงสร้างรถพยาบาลที่ไม่ปลอดภัย กับการรีเฟอร์กลางคืนแล้วพนักงานขับรถพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือกับเพื่อนร่วมถนนที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของรถพยาบาล อยากให้โรงพยาบาลต่างๆกลับไปดูว่าโครงสร้างรถ Refer ปลอดภัยแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ ทำไมยังใช้อยู่ ดังนั้นอยากวิงวอนผู้มีอำนาจช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยขึ้นจริงๆเสียที
- 169 views