สสส.ผนึกภาคีหยุดพนัน ชวนนักศึกษา โชว์ไอเดียผลิตสื่อรณรงค์รู้เท่าทันกลพนัน ด้านนักวิชาการ ตีแผ่สื่อชวนพนัน มอมเมาปลุกเร้าผ่านโลกออนไลน์แบบไร้ขีดจำกัด ชวนกระตุกหันกลับมามองตัวเอง อดีตนักพนันเดินทางผิดเปิดใจ เริ่มเล่นหลักร้อยเป็นหนี้หลักล้าน

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่เดอะฮอล์บางกอก เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการประกวดชุดนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้เท่าทันการพนันสำหรับเยาวชนและครอบครัว หัวข้อ “ช่วยด้วยฉันติดกับดัก” (Help me I’m trapped) เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษาที่สนใจได้ร่วมโชว์ไอเดียผลิตสื่อสร้างสรรค์เท่าทันพนัน โดยมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโชว์นิทรรศการจำนวน 5 ทีม

นายธนากร คมกฤษ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า คนเล่นพนันมักคิดฝันแต่เรื่องจำนวนเงิน คิดถึงความสนุก แต่ในทางจิตวิทยากลุ่มคนเหล่านี้กำลังติดกับดัก เช่น กับดักโลกสวย เพราะนักพนันมักคิดว่าเงินได้มาง่าย กับดักเพื่อนโชค คือคนเล่นพนันมักมีความเชื่อเรื่องโชคเรื่องดวง และคิดหวังกับตนเองอยู่เสมอว่าโชคต้องเข้าข้างเราสักครั้ง กับดักเฉียด นักพนันมักตีความว่าการเฉียดคือการเกือบชนะพนัน กับดักทีเด็ด คือพวกที่เชื่อข้อมูลทีเด็ดที่ถูกบอกใบ้หรือถูกแนะนำจากบรรดาเซียนทั้งหลาย ตัวสุดท้ายกับดักไล่ล่า นักพนันมักจะเสีย และเมื่อเสียจะพยายามเล่นเพิ่มเพื่อไล่ล่าเอาเงินที่เสียไปคืนมา

"สิ่งที่เราคาดหวัง คือ เด็กเยาวชน รวมทั้งครอบครัวเกิดการเรียนรู้กับดักพนันด้วยตัวเอง สสส.และภาคีเครือข่ายจึงสนับสนุนให้เยาวชนเป็นผู้พัฒนาเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ อย่างเช่นเกมที่เข้าใจง่าย สร้างการมีส่วนร่วม โดยสอดแทรกความจริงที่ว่าการพนันคือกับดัก ผู้เล่นคือเหยื่อ สำคัญที่สุดคือการทำให้คนรู้ว่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ชวนพนัน จะมีวิธีในการยับยั้งตัวเองได้อย่างไร" นายธนากร กล่าว

ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร กล่าวถึง ประเด็นสื่อชวนพนันว่า ปัจจุบันมีการพนันหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับสื่อไม่ว่าจะเป็น หวย บอล กาสิโน แต่ในทางกลับกันตัวสื่อเองก็เป็นผู้ชวนพนันเช่นเดียวกัน ด้วยการ 1)สนับสนุนให้ข้อมูลในการเดา การแทง 2)การกระตุ้นให้อยาก และ 3)สื่อออนไลน์ ใช้งานง่ายแค่ปลายนิ้วก็เข้าถึง

“เคยมีงานวิจัยระบุว่าเนื้อหาในสื่อมักนำเสนอเรื่องผิดธรรมชาติ สัตว์ประหลาด จิ้งจกสองหัว ต้นไม้แปลกๆ แล้วเชื่อมโยงไปยังตัวเลขเพื่อให้ตีความ เช่น ทะเบียนรถ เลขรถ เพื่อให้คอหวยนำไปแทง สิ่งสำคัญคือข้อมูลเหล่านี้กระจายไปสู่สังคมวงกว้างอย่างรวดเร็ว แต่ในยุคดิจิทัลทุกคนต้องไม่ลืมว่า ตัวเราเองก็เป็นสื่อเหมือนกัน ทุกคนสามารถนำเสนอส่งต่อข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการโทษสื่ออย่างเดียวก็อาจจะไม่ถูกต้อง” ผศ.ดร.นิษฐา กล่าว

ขณะที่ดอกแก้ว (นามสมมติ) เปิดเผยประสบการณ์ที่เคยเข้าไปพัวพันในวงจรการพนันจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดว่าครอบครัวเพื่อนสนิทเปิดบ่อนการพนัน เธอจึงเริ่มเล่นการพนันตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปีมีพฤติกรรมเข้าออกบ่อนเป็นประจำ ประกอบกับนิสัยส่วนตัวชอบเสี่ยงดวง เล่นการพนัน และเป็นคนที่อยู่ในสังคมกลางคืนด้วย ซึ่งสุดท้ายก็เข้าไปอยู่ในวงโคจรบ่อน เล่นบอล เกมส์ กระทั่งเข้าสู่ตู้ม้า และยาเสพติดอย่างเต็มตัว มีหนี้สินเป็นล้าน ตกอยู่ในวงจรแบบนี้เป็นสิบปี จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจกลับตัวคือประสบการณ์ที่เคยพบเห็นคนในวงจรเดียวกันติดหนี้สิน ตาย หรือติดคุก

“เดี๋ยวนี้การเล่นพนันไม่ต้องไปเล่นถึงบ่อนไกลๆ แค่เข้าไปในโลกออนไลน์ก็ได้เล่น หรือมีเงินแค่ 50 บาทก็เล่นได้ เด็กจึงเข้าถึงการพนันได้ง่าย ในฐานะคนที่ผ่านประสบการณ์ในวงจรการพนันมาก่อน สิ่งที่ทำได้คือบอกให้เขารู้ว่าชีวิตของเราต้องเผชิญอะไรมาบ้าง เริ่มเล่นจาก 100 บาทจนสุดท้ายเป็นหนี้หลายล้าน เกือบเอาชีวิตไม่รอด ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลไปกระทบไปถึงพ่อแม่ แต่ตนโชคดีที่ออกมาแล้วมาเจอสังคมที่ดี มีงานทำที่ดี พร้อมกับมีโอกาสนำบทเรียนของตัวเองไปร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้น้องๆเยาวชนร่วมกับเครือข่ายหยุดพนัน” ดอกแก้ว กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดชุดนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้เท่าทันการพนันสำหรับเยาวชนและครอบครัว หัวข้อ “ช่วยด้วยฉันติดกับดัก” (Help me I’m trapped)ได้แก่ทีม HUCA มหาวิทยาลัยหาดใหญ่, รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมผกากรอง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม COCO มหาวิทยาลัยบูรพา, รางวัลชมเชยมี 2 รางวัลได้แก่ ทีม NRRU-FIGHTมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และทีมคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน PKRU มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต