รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ร่วมมือภาคเอกชนเปิดช่องทางนำสมุนไพรไทยที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดรางวัลนายกรัฐมนตรี และผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพสู่ตลาดโลก ส่งเสริมสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ ตั้งเป้าหมายในปี 2564 เพิ่มมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็น 360,000 ล้านบาท หวังเป็นผู้นำการส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงนโยบายการพัฒนาสุมนไพรไทยสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาล ในโครงการนำสมุนไพรไทยคุณภาพสู่ตลาดโลก (Thailand KISS the World) โดยมี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนโครงการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้บริหารบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จากัด ผู้บริหาร ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) องค์กรภาคีเครือข่ายส่งเสริมการขาย
นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลมอบให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นแกนกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาพืชสมุนไพรไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ให้เป็นที่ยอมรับ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) กำหนดเป้าหมายให้เพิ่มมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร 1 เท่าตัว จาก 180,000 ล้านบาทเป็น 360,000 ล้านบาท และเป็นผู้นำการส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยปัจจุบันตลาดสมุนไพรในโลกมีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีการขยายตัวและได้รับความนิยมสูงคือ อาหารเสริมและเวชสำอาง ซึ่งในปี 2561 ไทยมีมูลค่าการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร 280,168 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 2,241 ล้านบาท และถูกจัดให้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านสมุนไพรสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยมีขมิ้นชัน product champion ที่ได้รับความนิยมจากตลาดโลก คิดเป็นมูลค่าการตลาดประมาณ 570 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 18,240 ล้านบาท
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดสมุนไพรของประเทศไทยมีการเติบโตมากกว่าร้อยละ 30 กระทรวงสาธารณสุข องค์กรภาครัฐอาทิ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคธุรกิจเอกชน อาทิ บริษัทคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด และซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมโครงการนำสมุนไพรไทยคุณภาพสู่ตลาดโลก (Thailand KISS the World) เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งเสริมการขายและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพให้เป็นที่รู้จัก และเข้าถึงได้ผ่านตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพที่ได้มาตรฐานมาพัฒนารูปแบบให้สวยงาม น่าสนใจ ดึงดูด กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และตลาดค้าปลีกในประเทศ
ด้าน นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล กล่าวว่า โครงการนำสมุนไพรคุณภาพสู่ตลาดโลก ภายใต้แนวคิด สมุนไพรไทย ตำรับไทย มรดกโลก ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การอบรมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการตามตลาดที่ได้รับการส่งเสริม อาทิ ตลาดนักท่องเที่ยว ตลาดร้านยา ฯลฯ 2.การเจรจาจับคู่ธุรกิจกับบริษัทชั้นนำ ได้แก่ KING POWER และCP X-TA ผ่านการคัดเลือกจำนวน 11 บริษัทจากผู้ประกอบการทั้งสิ้น 35 บริษัท 3.การออกนิทรรศการแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่นLANNA HERB 2019 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในงานทั้งสิ้นกว่า 3.8 ล้านบาท งาน Thai Festival in Hanoi 2019 (Local Best, Global Taste) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย การออกนิทรรศการร้านค้า ณ KING POWER สาขาศรีวารี และสาขารางน้ำ เป็นต้น
4.การเพิ่มช่องทางการขาย อาทิ ร้านค้าปลอดภาษีอากรของ KING POWER ร้านยา SEVEN-X-TA และ On Line คือ Thai Herbal pavilion online Shop บนเว็บการค้าที่มีชื่อเสียง อาทิ เว็บไซต์ www.taobao.com เว็บไซต์ https://www.thailandpostmart.com
ด้าน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทย ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อสนับสนุน อำนวยความสะดวก และส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางให้มีวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และมีประสิทธิผล สร้างโอกาสทางการตลาดของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร เพิ่มช่องทางการจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพร นำไปสู่การสร้างความมั่นคงของวัตถุดิบสมุนไพรเพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสมุนไพรได้ในอนาคต ส่วนกลางทางอาทิ การพัฒนาคุณภาพสารสกัด การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และส่วนปลายทางคือ การส่งเสริมการขายทั้งในและต่างประเทศ
- 89 views