นักวิชาการห่วงหญิงไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง 81% บ้านยังเป็นสถานที่รับควันบุหรี่ วอนให้คนที่สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ในบ้านเพื่อป้องกันคนในครอบครัวอาจต้องเสียชีวิต ชี้ 20 ส.ค.นี้ บังคับใช้กฎหมายสูบบุหรี่ในบ้านถือเป็นความรุนแรงในครอบครัว โทร.1300 ถึงเวลาที่บ้านควรปลอดบุหรี่ 100%
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองเฉลี่ยปีละ 430,000 ราย โดยผู้หญิง 2 ใน 3 ต้องเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง ซึ่งผู้หญิงที่มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง ดังนั้น ศจย.จึงสนับสนุน การวิจัย ‘พฤติกรรมการหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสองของผู้หญิงที่มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ พ.ศ.2561’ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงที่มารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่หน่วยตรวจโรคนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 385 คน
“ซึ่งผลการวิจัยพบว่า 81% บ้าน เป็นสถานที่รับควันบุหรี่มือสองจากคนในครอบครัวมากที่สุด และ 97% สมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ 1-2 คน โดยผู้หญิง 96% รับรู้ประโยชน์การหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง และ 65% มีพฤติกรรมปฏิเสธที่จะเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีควันบุหรี่มือสอง ทั้งนี้การรับรู้ประโยชน์การหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสองมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสองอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นควรส่งเสริมให้ผู้หญิงตระหนักถึงความสำคัญในการหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและอาจเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง” ศ.นพ.รณชัย กล่าว
ศ.นพ.รณชัย กล่าวต่อว่า ถ้าคนในครอบครัวสูบบุหรี่ในบ้าน ถือว่าเป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวโดยเจตนาให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ซึ่งมีความผิดตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 โดยนิยามคำว่า ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ คือ การกระทำใดๆในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ซึ่งผู้ได้รับควันบุหรี่ถือเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวซึ่งมีทุกจังหวัด (เบอร์โทร. 1300) จากนั้นหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ และมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้เท่าที่จำเป็น พร้อมกับทำคำร้องและคำสั่งไปยื่นต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง ทั้งนี้ 20 สิงหาคม พ.ศ.2562 จะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จึงอยากขอร้องให้คนที่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่ในบ้าน เพราะผลกระทบรุนแรงต่อคนในครอบครัว (ถึงเวลาที่บ้านควรปลอดบุหรี่ 100%)
- 29 views