เลขาธิการ สปสช. เผยตัวเลขงบบัตรทองอยู่ในกรอบ 2 แสนล้านไม่ถูกลดลง เพียงแต่ ครม.ให้หารือร่วมสำนักงบฯ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็ต้องเข้ากระบวนการอีกครั้ง แต่ “อนุทิน” ยืนยันดูแลต่อเพื่อผู้ป่วยทุกคน
จากกรณีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ออกมาตั้งคำถามกรณีรัฐบาลตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพของประชาชน 680 ล้านบาท แต่กลับอนุมัติเอาเงินภาษีไปแจกให้คนเที่ยวกว่า 15,000 ล้านบาท โดยมองว่า งบหลักประกันสุขภาพฯ เป็นงบที่จำเป็นต่อสุขภาพประชาชน และผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังถูกตัดงบประมาณนั้น
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการสรุปเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก็มีการรับรองในกรอบตัวเลขตามที่เสนอประมาณ 2 แสนล้านบาท ไม่ได้ตัด หรือลดลงแต่อย่างใด แต่ก็ให้ สปสช.ไปหารือและตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ต้องมาเข้ากระบวนการของของสภา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ก็ต้องทำหนังสือผ่านเข้าไปอีกครั้งถึงความต้องการงบประมาณ ซึ่งทางรัฐมนตรีฯ ระบุเบื้องต้นยังยืนยันว่าจะดูแลตรงส่วนนี้
“ จริงๆ งบที่ขอไปปีนี้ได้รับเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนที่เราเสนอไปก็เพิ่มขึ้น หรือตัวเลขของสำนักงบประมาณก็เพิ่มขึ้น เพราะว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น เลยต้องดำเนินการขอประมาณนี้ ดีกว่าดำเนินการไปแล้วต้องมาตามของบประมาณกลางในภายหลังจะมีปัญหามากกว่า แต่เรียนตรงๆ ว่าเรื่องนี้ทางการยังไม่จบ ต้องผ่านอีกหลายกระบวนการ ซึ่งคงใช้เวลาไม่น่านาน แน่นอนทางเรายืนยันตัวเลขเดิมที่เสนอขอไปตามที่ผ่านมติ ครม.ก่อนนี้อยู่แล้ว ส่วนทางเอ็นจีโอเรามีการชี้แจงกันตลอดอยู่แล้ว” เลขาธิการสปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนเฉพาะ หรือกองทุนนอกงบเหมาจ่ายรายหัว มีอยู่ 6 กองทุน คือ 1.กองทุนผู้ป่วยเอดส์ วัณโรค 2.กองทุนผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง 3.กองทุนผู้ป่วยไตวาย 4.กองทุนเงินเสริมสภาพคล่องสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร 5.กองทุนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6.กองทุนบริการปฐมภูมิ ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในการของบประมาณนอกงบเหมาจ่ายรายหัวจะมีการคำนวณตามจำนวนผู้ป่วย และราคาทุน หรือเรียกว่าราคาคูณต่อหน่วยเพื่อไปตกลงกับสำนักงบฯ
“ยกตัวอย่าง สมมติทั้งปีจะมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 1.2 แสนคน คูณกับอัตราค่าดูแล 5,000 บาท ต่อหัวก็คูณเข้าไป แล้วก็ต้องส่งผลงานให้สำนักงบฯ ด้วย ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ที่ได้จากการคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยเลย ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูเป็นเรื่องๆ ว่ามีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างไร หากผู้ป่วยลดลงงบประมาณก็ลดลงด้วยเป็นปกติ แต่ไม่มีแนวคิดที่จะยุบกองทุนใดกองทุนหนึ่ง การยุบกองทุนเป็นไปได้ยาก” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
- 4 views