ปลัดสธ.ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์นพ.สสจ.ทั่วประเทศ เตรียมพร้อมปัญหาภัยแล้ง ชี้มีเสี่ยงสุด 8 จ. แต่ไม่ได้ขาดน้ำทั้งจังหวัด อย่าง รพ.สุรินทร์ ขุดน้ำบาดาล 8 บ่อ ลั่นอนุมัติงบซื้อเครื่องกรองปรับสภาพน้ำ เพื่อใช้ทางการแพทย์เริ่มใช้ 14 ส.ค.นี้
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ 44 จังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ว่า จากการติดตามพบว่าจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงมีอยู่ 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ และกำแพงเพชร อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาดน้ำไม่ได้เกิดขึ้นทั้งจังหวัด แต่เป็นแค่บางอำเภอหรือบางพื้นที่ ดังนั้น ในจังหวัดก็ยังมีการช่วยเหลือกันเอง ใช้มาตรการประหยัดน้ำ และมีการสนับสนุนน้ำจากหน่วยงานต่างๆ และประชาชน ทำให้โรงพยาบาลทุกแห่งยังสามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ
"อย่าง รพ.สุรินทร์ บุคลากรก็ช่วยกันประหยัดน้ำ จากที่เคยใช้วันละ 1 ล้านลิตร ก็เหลือวันละประมาณ 5 แสนลิตร ทำให้เหลือน้ำเพียงพอในการเปิดบริการทางการแพทย์ ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ทั้งการผ่าตัด ทำไตเทียม และไม่มีปัญหาการติดเชื้ออะไรเพิ่มเติม รวมถึงมีการประสานงานกับทางหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ซึ่งได้ช่วยขุดบ่อน้ำบาดาลเรียบร้อยแล้วทั้ง 8 บ่อ และจากการส่งตรวจคุณภาพน้ำที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ก็พบว่า อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ มีความกระด้างเล็กน้อย อยู่ในค่ามาตรฐาน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้และทางการแพทย์ จึงได้อนุมัติงบประมาณในการซื้อเครื่องกรองในการปรับสภาพน้ำ เพื่อใช้ทางการแพทย์โดยสมบูรณ์มากขึ้น คาดว่าวันพรุ่งนี้ก็ใช้การได้ตามปกติ โดยสามารถใช้น้ำได้ประมาณ 8 แสนลิตรต่อวัน ก็ทำให้มีความเพียงพอ" นพ.สุขุมกล่าว
เมื่อถามถึงการสำรวจความต้องการการใช้น้ำของ รพ. นพ.สุขุม กล่าวว่า จริงๆ ควรต้องทำทั้งประเทศ เพราะเรื่องน้ำก็ถือว่าเป็นมาตรฐานการจัดการเรื่องความเสี่ยง เช่นเดียวกับปัญหาน้ำท่วม ไฟสำรอง อุบัติเหตุกับบุคลากร เป็นต้น ดังนั้น ก็ต้องวางแผนความเสี่ยงว่า หากเกิดปัญหาขาดน้ำจะเป็นเช่นไร ซึ่งเมื่อก่อนอาจมองว่าน้ำมีเพียงพอ อาจสำรองแค่ 2-3 วัน เพราะเมื่อเกิดปัญหาอย่างน้ำประปาเสีย 2-3 วันก็ได้น้ำแล้ว แต่หากไม่มีจริงๆ จะทำอย่างไรให้ไม่กระทบคุณภาพการบริการ เช่นต้องหาแหล่งน้ำ คือ ประปาท้องถิ่นส่วนภูมิภาค หรือน้ำบาดาล ซึ่งที่ขุดว่าก็ต้องดูมีคุณภาพหรือไม่
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า พื้นที่มีปัญหาภัยแล้งจะมีความเสี่ยงเรื่องโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ได้เฝ้าดูแลสื่อสารประชาชนเรื่องป้องกันโรคแล้ว แม้ขณะนี้จะยังพบโรคเหล่านี้อยู่ แต่ยังไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือระบาดใหญ่จนมีผู้เสียชีวิต แต่ที่กังวลคือฝนตกประปรายสลับกับภัยแล้ง ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องโรคไข้เลือดออก ต้องดูแลในเรื่องนี้ด้วย
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หากไม่ใช่ภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ควรมีการทดสอบสภาพน้ำจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่น้ำประปาด้วย เช่น การขุดน้ำบาดาลหรือน้ำที่มาจากรถต่างๆ ก่อนที่จะนำมาใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งกรมฯ ก็พยายามให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ เพราะหากเป็นสถานพยาบาลจะมีการทดสอบก่อนนำมาใช้อยู่แล้ว และขอฝากประชาชนในพื้นที่ภัยแล้ง เมื่อปริมาณน้ำที่ใช้น้อยลง ความเสี่ยงเกิดโรคจากน้ำและอาหารมีโอกาสเพิ่มขึ้น จึงอยากให้ใช้หลักการที่ใช้มาตลอด คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ แต่ต้องประหยัดน้ำด้วย ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงโรคที่มากับภัยแล้งได้
- 7 views