ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มส.ผส.เปิดผลงานวิจัยล่าสุด เผยภัยแล้งบีบชีวิตเกษตรไทยใกล้ล่มสลาย หากไม่เตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น หนุนส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่บริหารจัดการความเปราะบางในครัวเรือนและชุมชน เสริมสร้างกลไกระดับท้องถิ่นรับมือภัยแล้ง เพิ่มประสิทธิภาพการเตือนภัย

ภาคการเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงยิ่งขึ้นทุกปี ภัยแล้งไม่เพียงแต่กระทบต่อผลผลิตและเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ยังก่อให้เกิดความเปราะบางทางด้านคุณภาพชีวิตของกลุ่มเกษตรกรสูงวัยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของภาคเกษตรกรรมไทย งานวิจัยล่าสุดจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เปิดเผยผลการศึกษาว่าภาคการเกษตรในไทยกำลังเผชิญวิกฤตที่อาจส่งผลถึงการล่มสลายของทั้งระบบ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น

สถานการณ์และความสำคัญ ของความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเกษตรกรสูงวัย

ดร.วัชระ เพชรดิน หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง "การศึกษาความเปราะบางและกลยุทธ์การรับมือต่อภัยแล้งของเกษตรกรสูงวัย" ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์และความสำคัญ ของความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเกษตรกรสูงวัยในสภาวะที่สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นประจำและมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากข้อมูลสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 พบว่าเกษตรกรสูงวัยในไทยมีจำนวนมากถึง 2.84 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 59.2 ของผู้สูงอายุทั้งหมดที่ยังคงทำงานอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และในปี 2566   ที่ผ่านมา ภาคการเกษตรของไทยได้รับความเสียหายจากฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งมูลค่ากว่า 460 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 2.8 แสนไร่ และเกษตรกรมากกว่า 25,000 ราย โดยภัยแล้งในครั้งนี้เป็นภัยที่รุนแรงมากกว่าภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันเกือบสองเท่า สถิตินี้ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ผลการศึกษาจะนำไปสู่การแก้ไขอะไร

จากผลการวิจัย คณะผู้วิจัยได้พัฒนาชุดข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความเปราะบางของเกษตรกรสูงวัยในหลายมิติ ซึ่งประกอบไปด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีการพัฒนาตัวชี้วัดที่สามารถใช้ประเมินและวางแผนกลยุทธ์การรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต

การศึกษาความเปราะบางครั้งนี้ไม่เพียงแค่วัดระดับความเปราะบางของเกษตรกรในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นไปที่การสร้างความยืดหยุ่น (resilience) ให้แก่เกษตรกรสูงวัย เพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการป้องกันความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

การศึกษาพบว่าความเปราะบางในกลุ่มเกษตรกรสูงวัยนั้นแสดงให้เห็นชัดในหลายมิติ โดยในด้านเศรษฐกิจ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรสูงวัยตกอยู่ในภาวะความเปราะบาง ได้แก่ ความสามารถในการปรับตัว (Adaptive Capacity) ที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการต้นทุนและกระบวนการรับมือกับภัยธรรมชาติ ที่เกษตรกรสูงวัยจะมีข้อจำกัดในด้านการเรียนรู้สิ่งใหม่ และมักจะยึดติดกับวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐต่อการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เข้าไปแก้ไขปัญหา ด้านสุขภาพ เกษตรกรสูงวัยมีความเสี่ยงต่อสภาวะสุขภาพที่ถดถอย

เนื่องจากการทำงานหนักในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับผลสืบเนื่องจากความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจ ที่เกษตรกรบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคเพื่อลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนในช่วงวิกฤติภัยแล้ง เช่น การลดความหลากหลายในการบริโภคอาหาร การบริโภคอาหารโภคชนาการต่ำ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม เกษตรกรสูงวัยมีความเปราะบางในด้านความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยพบว่าเกษตรกรมีแนวโน้มเป็นเกษตรกรปัจเจคมากขึ้น ครัวเรือนเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง ทั้งพ่อแม่-ลูก และครัวเรือน-เพื่อนบ้าน-ชุมชน

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากวิถีปฏิบัติ (Norms) ในภาคการเกษตรที่เปลี่ยนไปตามการพัฒนาของโลก และด้านสิ่งแวดล้อม ภาคการเกษตรของไทยยังคงต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเกษตรกรสูงวัยมักไม่มีทรัพยากรในการปรับตัวหรือป้องกันภัยพิบัติเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์การรับมือกับภัยพิบัติสำหรับเกษตรกรสูงวัยควรทำอย่างไร 

ผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนของความเปราะบางที่เกิดขึ้นในกลุ่มเกษตรกรสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการฟื้นตัวของเกษตรกรสูงวัยที่มีข้อจำกัดทั้งด้านร่างกายและทรัพยากร แนวทางที่สำคัญที่ค้นพบในงานวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การยกระดับความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) สู่การปรับตัวอย่างยืดหยุ่น (Affective Adaptation) โดยมีแนวทางที่สำคัญได้แก่

1. การส่งเสริมการเข้ามามีบทบาทของเกษตรกรรุ่นใหม่ในการบริหารจัดการความเปราะบางในครัวเรือนและชุมชน

ความท้าทายที่เกษตรกรสูงอายุเผชิญเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร โดยมีหลายแง่มุมที่ต้องพิจารณา ทั้งการเปิดรับเทคโนโลยี พบว่า เกษตรกรสูงอายุอาจมีความเคยชินกับวิธีการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ทำให้การปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีใหม่เป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ความเสี่ยงและค่าจ่ายในการลงทุนในระดับสูง เนื่องจากการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้มักมาพร้อมกับการลงทุนที่สูงขึ้น เช่น การซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือใหม่ ซึ่งอาจเป็นภาระต่อเกษตรกรสูงอายุที่มีรายได้จำกัด นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงทางการเงินหากการลงทุนเหล่านั้นไม่ให้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง รวมถึงการเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องการทักษะในการใช้งาน ซึ่งสำหรับเกษตรกรสูงอายุอาจเป็นเรื่องยากเนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพและทักษะการเรียนรู้ที่อาจลดลงตามอายุ

แนวทางสำคัญในการบรรเทาปัญหา คือ กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเกษตรกรสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลไกในระดับพื้นที่ (ระดับจังหวัดและอำเภอ) ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยแกนนำหรือกลุ่มคนที่มีความสามารถในการเปิดรับเทคโนโลยี เช่น เกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) ที่มีความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีมาช่วยเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ แนะนำเทคนิคการใช้เทคโนโลยี และช่วยเหลือเกษตรกรสูงอายุในการรับมือกับความท้าทายและลดความเปราะบางที่เกิดขึ้นในกลุ่มเกษตรกรสูงวัย

การทำเช่นนี้จะช่วยให้เกิดการปรับตัวและการยอมรับเทคโนโลยีในกลุ่มเกษตรกรสูงอายุได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินงานควรมีการดำเนินงานร่วมกันกับการสร้างพี่เลี้ยงในพื้นที่ (Mentor) เช่น อาจารย์จากมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อถ่ายถอดความรู้/ขยายผลให้แก่เกษตรกรคนอื่น ๆ ต่อไป

2. การเสริมสร้างกลไกระดับท้องถิ่นในการรับมือกับภัยแล้ง

การช่วยเหลือทางด้านภัยแล้ง หน่วยงานภาครัฐ เช่น ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จำเป็นต้องมีกลไกที่ทำงานในระดับอำเภอ เพื่อให้สามารถประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น               (เช่น อบต.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีคณะทำงานที่สามารถทำงานในระดับพื้นที่ได้จะช่วยให้การตอบสนองต่อเหตุการณ์สาธารณภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงจุด  นอกจากนี้ การเพิ่มกำลังทรัพยากรบุคคล เช่น อปพร. ควรมีแผนงานอย่างชัดเจน ปัจจุบัน อปพร. ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนที่เป็นรายได้ประจำ จึงอาจทำให้ขาดแรงจูงใจหรือความต่อเนื่องในการทำงาน การมอบค่าตอบแทนให้แก่ อปพร. จึงเป็นการสนับสนุน สร้างขวัญกำลังใจ และส่งเสริมการทำงานให้ต่อเนื่อง

อีกทั้ง การมีค่าตอบแทนจะช่วยสร้างความมั่นคงและความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของ อปพร. ทำให้อาสาสมัครเหล่านี้มีความรับผิดชอบและสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์สาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยลดข้อจำกัดการเข้าถึงของกลุ่มเกษตรกรสูงวัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่น ๆ

3. การเพิ่มประสิทธิภาพการเตือนภัยล่วงหน้า

เกษตรกรสูงวัยเป็นกลุ่มเกษตรที่มีข้อจำกัดในการเข้าใจเนื้อหาที่ซับซ้อน ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสารข้อมูลเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา ควรพิจารณาถึงลักษณาของเกษตรกรสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดรูปแบบการสื่อสารที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุในชนบท เช่น การติดตามความเคลื่อนไหวของการพยากรณ์อากาศผ่านเสียงตามสาย โดยกรมอุตุวิทยาฯ อาจเน้นการเล่าเรื่องเพื่อให้ให้เข้าใจง่าย หรืออาจประยุกต์ใช้กับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การผนวกรวมกับการเทศนาในวัด การแต่งเป็นเพลงท้องถิ่น หรือ มหรสพหมอลำ เป็นต้น ซึ่งความบันเทิงเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีความเพลิดเพลินและเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องการสื่อได้ดีขึ้น

4. การเพิ่มองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำ

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการจัดการภัยแล้ง คือ การให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ให้กับเกษตรกรสูงวัย เนื่องจากในเกษตรกรกลุ่มนี้ มักจะมีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ที่มีปริมาณการใช้น้ำไปสิ้นเปลือง ดังนั้น การลดปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืด จึงเป็นสิ่งจำเป็น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมฝนหลวงและการบินการเกษตร ควรเพิ่มกิจกรรมหรือกระบวนการทำงานร่วมกันกับกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ เช่น การให้ความสำคัญกับ Water Harvest ในการจัดการการสร้างน้ำเร่งด่วน โดยระยุกต์ใช้กระบวนการการดักจับไอน้ำ ซึ่งแนวคิดเป็นกระบวนการเก็บเกี่ยวน้ำจากพื้นผิวดิน เพื่อให้เกิดปริมาณน้ำ และส่งต่อไปยังพื้นที่เพาะปลูก/เรือนเพาะปลูก ซึ่งจะช่วยให้ลดปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืดได้

5. การส่งเสริมสุขภาวะและความพร้อมด้านสุขภาพ

การรับมือกับภัยพิบัติไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกษตรกรมีปัญหาสุขภาพ ดังนั้น การเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงเป็นเรื่องสำคัญ เกษตรกรสูงวัยควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเบื้องต้น นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถรับมือกับภัยพิบัติและฟื้นฟูจากความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว

การศึกษาเรื่องความเปราะบางและกลยุทธ์การรับมือกับภัยพิบัติในกลุ่มเกษตรกรสูงวัยถือเป็นก้าวสำคัญในการวางแผนพัฒนานโยบายเพื่อการเกษตรในประเทศไทย งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นกำลังสร้างแรงกดดันมหาศาลต่อเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่มีข้อจำกัดทั้งในด้านทุนทรัพยากรและศักยภาพในการปรับตัว จึงจำเป็นต้องหนุนเสริมศักยภาพเกษตรกรสูงวัย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ  ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชน หากไม่มีการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างกลยุทธ์การรับมืออย่างเร่งด่วน ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับวิกฤตการเกษตรที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ในอนาคต