กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เผยหากจะจ่ายค่าตอบแทนอาสาสมัครในท้องถิ่นต้องรับฟังความเห็นก่อน ด้านนักวิชาการระบุ ขึ้นค่าตอบแทน อสม.เรื่องใหญ่และไม่ง่าย ต้องส่งให้ คกก.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพิจารณาก่อน เฉพาะ อสม.ต้องใช้เพิ่มปีละ 2.4 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2562 นสพ.มติชนรายงานว่า จากกรณีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) สำนักนายกรัฐมนตรี ศึกษาการดำเนินการของอาสาสมัครในท้องถิ่น 8 ประเภท เพื่อจ่ายค่าตอบแทน ประกอบด้วย คณะกรรมการชุมชนในเขตเทศบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครควบคุมไฟป่า อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) อาสาสมัครดูแลผู้พิการ นักบริบาลชุมชนหรืออาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น และอาสาสมัครปศุสัตว์ รวมทั้งการเรียกร้องเพิ่มค่าตอบแทนจากสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมยังไม่ทราบละเอียดจากการศึกษาข้อมูลของ ก.ก.ถ. หากจะจ่ายค่าตอบแทนในอนาคตต้องมีการรับฟังความเห็นก่อนมีข้อสรุป แต่น่าจะไม่ตัดสินใจในระยะสั้น เพราะเรื่องนี้ต้องมีหลายหน่วยงานศึกษาข้อมูลรายละเอียด โดยเฉพาะสำนักงบประมาณต้องมีการประเมินงบประมาณรายจ่ายในระยะยาว ดังนั้น ต้องคำนึงว่าการทำหน้าที่อาสาสมัครจะจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร อาจเป็นรายกิจกรรม จ่ายรายเดือน จ่ายเบี้ยประชุม จ่ายค่าเดินทาง ค่าอาหาร เชื่อว่าน่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยทั้งจำนวนอาสาสมัครที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ ภารกิจในแต่ละท้องถิ่น การประเมินผลงาน ความพึงพอใจของประชาชน และการจ่ายงบค่าตอบแทนคงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางจะต้องจัดสรรงบประมาณทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันงบประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอยู่อย่างจำกัด
นายวีระศักดิ์ เครือเทพ
นายวีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ก.ถ. กล่าวว่า การจ่ายเงินค่าตอบแทน อสม.รายละ 2,500 บาท หรือมากกว่านั้น ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะต้องส่งให้ ก.ก.ถ.พิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขมีการกำหนดค่าตอบแทนให้นักบริบาลชุมชนเดือนละ 6,000 บาท โดยใช้งบของ อปท.เสนอผ่าน ก.ก.ถ. สำหรับ อสม.จะปรับค่าตอบแทนเพิ่มขณะที่มีจำนวนมากถึง 1.04 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณกว่าปีละ 24,000 ล้านบาท จากเดิมเคยจ่ายรายละ 600 บาทต่อเดือน หากจะจ่ายตรง ก.ก.ถ.ได้มีมติให้ยกเลิกค่าตอบแทน อสม.ออกจากสัดส่วนรายได้ของ อปท. จากนั้นกระทรวงการคลังต้องหางบส่วนอื่นมาชดเชยให้ อปท.ครบตามสัดส่วนที่กำหนด ประเด็นนี้อาจมีปัญหาเพราะรัฐบาลต้องนำเงินไปทำนโยบายบัตรคนจน รวมทั้งโครงการมารดาประชารัฐ
"การเพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครส่วนอื่นที่ทำงานในฐานะจิตอาสา อาจมีงบช่วยเหลือไม่มาก แต่เนื่องจาก อสม.มีค่าตอบแทนเดิมเดือนละ 600 บาท จึงถูกยกมาเป็นฐานเทียบเคียงให้ค่าตอบแทนอาสาสมัครประเภทอื่น และเมื่อปรับค่าตอบแทน อสม.ไปถึง 2,500 บาทต่อเดือน ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่ จะกระทบอาสาสมัครประเภทอื่นทั้งระบบแน่นอน จะสร้างปัญหาพอสมควร โดยส่วนตัวเชื่อว่าการเพิ่มค่าตอบแทนจากเดิม 4 เท่าคงไม่ง่าย และต้องทราบหลักเกณฑ์ก่อนเพิ่มค่าตอบแทน อสม.มีหลักการอย่างไร การเพิ่มค่าตอบแทนอาสาสาสมัคร ก.ก.ถ.จะให้อำนาจการตัดสินใจโดยตัวแทน อปท. เพื่อจัดสรรบุคลากรไปทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น สามารถสั่งการได้ หากจะนำค่าตอบแทนอาสาสมัครทั้งหมดไปเขียนไว้ให้ชัดเจนใน พ.ร.บ. จัดตั้ง อปท.ก็เป็นเรื่องดี
"การประชุมวันที่ 21 สิงหาคมนี้ จะกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมของอาสาสมัครทุกประเภทโดยอ้างอิงจากค่าตอบแทน อสม. สำหรับค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตร กำนัน โดยเฉพาะแพทย์ประจำตำบล ซึ่งอาจทำงานทับซ้อนกับ อสม.ที่มีการเรียกร้องเพิ่ม น่าจะเป็นการเรียกร้องแบบงูกินหาง ดังนั้น น่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลมีงบเพียงพอหรือไม่ ที่สำคัญที่สุดประชาชนเจ้าของภาษีจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก่อนขึ้นค่าตอบแทนอาสาสมัครทุกประเภทควรมีผลการวิจัย ทั้งการคัดสรรตัวบุคคล การประเมินผลการทำงาน ประสิทธิภาพการทำหน้าที่ โดยเฉพาะ อสม.ควรเสนอให้ชัดเจน" นายวีระศักดิ์กล่าว
นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ อปท. กล่าวว่า ไม่ควรยกเรื่องนี้ไปต่อสู้เรียกร้องโดยเด็ดขาด เนื่องจากสังคมจะมองเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะการทำหน้าที่ผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่ต้องมีความสมัครใจ ไม่มีใครบีบบังคับ และต้องผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น ในการเรียกร้องค่าตอบแทน ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าการทำงานที่ผ่านมาประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่อย่างไร
นายชาตรี จันทร์วีระชัย ปลัดจังหวัดระนอง กล่าวว่า เห็นด้วยกับการขึ้นค่าตอบแทนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล เนื่องจากต้องทำงานรับผิดชอบเป็นผู้ประสานทั้ง 20 กระทรวง ไม่รวมหน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ต้องมีเงื่อนไขจากการประเมินตามตัวชี้วัดที่กำหนดอย่างเข้มงวด ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องให้การยอมรับ เนื่องจากการกำหนดให้ทำหน้าที่ถึงอายุ 60 ปี ทำให้ผู้นำท้องที่บางรายไม่สนใจทำงานในหน้าที่ ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน เช่นใน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นไปจับแรงงานต่างด้าวเถื่อน 2 รอบ แต่ผู้ใหญ่บ้านอ้างว่าไม่ทราบข้อมูลก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวนและต้องสั่งให้ออกจากตำแหน่งเพื่อให้บุคคลอื่นที่มีความพร้อมเข้าไปทำหน้าที่
นางเพ็ญจันทร์ วสุนธรารัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศรีนคร ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า นโยบายขึ้นค่าตอบแทน อสม.ควรพิจารณาเป็นรายบุคคลที่มีศักยภาพสูง บางรายทำหน้าที่มานานกว่า 20-30 ปี เริ่มแรกจากไม่มีค่าตอบแทน ส่วนใหญ่ไม่ต้องการค่าตอบแทนเพิ่ม เนื่องจากตั้งใจทำงานด้วยจิตอาสา มีใจเอื้อเฟื้อ เพราะงานในระบบสาธารณสุขต้องมีความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง แต่ยอมรับว่าปัจจุบันมี อสม.ส่วนน้อยที่อุทิศแรงกายแรงใจทำงานด้วยความเสียสละ ขณะที่ส่วนใหญ่ต้องมีอาชีพประจำ อาจสละเวลาไปช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขได้เป็นครั้งคราว และการเพิ่มค่าตอบแทนเป็นสิ่งจูงใจ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกต หาก อสม.บางรายไม่ทำหน้าที่ ผอ.รพ.สต.จะคัดเลือกให้ออกจากตำแหน่งได้หรือไม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2562
- 369 views