กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกคำแนะนำ การใช้กัญชาทางการแพทย์ ย้ำไม่แนะนำให้ใช้กัญชาในการรักษาหรือควบคุมอาการเป็นลำดับแรกในทุกกรณี พร้อมระบุ 4 อาการใช้กัญชาได้ประโยชน์ ส่วน มะเร็งระยะท้าย พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ อยู่ในกลุ่มน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ แต่ข้อมูลสนับสนุนมีจำกัด ต้องศึกษาวิจัยเพิ่ม
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ (Guidance on Cannabis for Medical Use) โดยเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2562
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เขียนในคำนำว่า ปัจจุบันการใช้กัญชาทางการแพทย์มีความก้าวหน้าและเป็นพลวัตอย่างยิ่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนในหมู่บุคลากรสาธารณสุขพอสมควร กรมการแพทย์ในฐานะกรมวิชาการที่มุ่งส่งเสริมมาตรฐานการรักษาโดยใช้หลักการแพทย์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) จึงทำการทบทวนองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์
โดยยึดหลักการทำงาน 3 ประการ คือ
1.ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วย (do no harm)
2.ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย (patient benefit)
3.ต้องไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง (no hidden agenda)
สำหรับคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ได้ระบุข้อตกลงเบื้องต้นว่า “แนวทางนี้ไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาและหรือควบคุมอาการของผู้ป่วยเป็นการลำดับแรก (first-line therapy) ในทุกกรณี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ยังไม่ผ่านการรับรองตำรับ (unapproved products) ยกเว้นในกรณีที่ได้รับข้อมูลทางการแพทย์ และเป็นความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัวตามสิทธิขั้นพื้นฐาน”
โดยกำหนดโรคและภาวะที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ดังนี้
ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่
1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
2.โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis)
4.ภาวะปวดประสาท (neuropathic pain)
ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์น่าจะได้ประโยชน์ (ในการควบคุมอาการ) เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนจำนวนจำกัด ซึ่งต้องการข้อมูลการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนต่อไป
โรคและภาวะของโรคในกลุ่มนี้ อาทิ
1.ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care)
2.ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย (end-state cancer)
3.โรคพาร์กินสัน
4.โรคอัลไซเมอร์
5.โรควิตกกังวลไปทั่ว (generalized anxiety disorders)
6.โรคปลอกประสาทอักเสบ (demyelinating diseases) อาทิ neuromyelitis optica และ autoimmune encephalitis
ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์อาจได้ประโยชน์ (ในอนาคต)
การใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง มีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยถึงประสิทธิผลของกัญชาในหลอดทดลอง ความปลอดภัยและประสิทธิผลในสัตว์ทดลอง ก่อนการศึกษาวิจัยในคนเป็นลำดับต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลหละกฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่ากัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ยังมีไม่เพียงพอ แต่สมควรได้รับการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด ดังนั้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงควรได้รับการรักษาตามวิธีมาตรฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน หากเลือกใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาโรคมะเร็งแล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผลด้วยวิธีมาตรฐานได้
ดาวน์โหลดได้ ที่นี่
- 159 views