“สาธิต ปิตุเตชะ” แจงกรณีนโยบายมอบ อสม.ส่งยาให้ผู้ป่วย หวังลดความแออัดใน รพ. ชูตัวอย่าง รพ.จุฬาลงกรณ์ ใช้ระบบจัดส่งทางไปรษณีย์ ลดเวลารอรับยาจาก 46 นาที เหลือ 6 นาที ย้ำส่วน อสม.ไม่ใช่ยาทุกประเภท เน้นยาที่ผู้ป่วยใช้ประจำ

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมากภายหลัง นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการมอบหมายงานให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) แจกยาให้แก่ผู้ป่วยพร้อมทั้งอธิบายการใช้ยา ผลข้างเคียง โดยจะมีการเพิ่มค่าตอบแทนพร้อมๆกับเพิ่มความเชี่ยวชาญอื่นๆเพิ่มเติม จนเกิดเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย เนื่องจากการจัดส่งยาอาจไม่ใช่ภาระหน้าที่จำเพาะ มีความเสี่ยงคลาดเคลื่อนจากการใช้ยาได้นั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนขอเรียนชี้แจงประเด็นนี้ ว่า การไปรับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล(รพ.) มี 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ 1.ขั้นตอนการลงทะเบียน คัดกรอง 2.ผู้ป่วยได้พบแพทย์ สอบถาม ตรวจรักษา วินิจฉัยและรับคำแนะนำการให้คำปรึกษาจากแพทย์ และ 3.การรับยา ซึ่งการบริหารการรับยานั้นมีหลากหลายวิธี ที่จะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว ไม่ต้องมาใช้เวลาในการรอรับยาเป็นเวลานาน ในการแก้ปัญหาความแออัดในรพ. ลดระยะเวลารอคอยตรงจุดนี้มีหลายทางเลือก

 

“หนึ่งในนั้นคือแนวคิดที่จะให้ อสม.เป็นคนรับยาไปส่งให้ผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอรับยาเอง จะช่วยลดความแออัดลงได้บางส่วน หรือ การส่งยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้านทางไปรษณีย์ ซึ่ง รพ.จุฬาลงกรณ์ดำเนินการอยู่ พบว่า สามารถลดระยะเวลารอรับยาจาก 46 นาทีเหลือเพียง 6 นาที โดยจะพิจารณาเฉพาะรายที่จะสามารถส่งยาไปให้ที่บ้านได้ หลังผ่านการตรวจวินิจฉัยของแพทย์แล้ว นอกจากนี้ จะให้ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพของตัวเอง โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ 2 สิ่งนี้จะเป็นนโยบายที่จะนำมาใช้เพื่อลดความแออัดของรพ.ใหญ่” นายสาธิต กล่าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวอีกว่า การจะให้ อสม.ช่วยส่งยาให้ผู้ป่วยนั้น จะเป็นขั้นตอนหลังจากที่ผู้ป่วยได้พบแพทย์ ตรวจวินิจฉัยและคุยรายละเอียดกับแพทย์ จนมาถึงขั้นตอนการรอรับยา ผู้ป่วยก็ไม่ต้องรอ แต่จะให้อสม.นำยาไปส่งให้ที่บ้าน โดยจะเน้นยาที่อาจจะเป็นยาที่ผู้ป่วยเคยใช้ประจำ ยาที่ไม่มีความซับซ้อนหรือต้องอธิบายการใช้ยามากที่ต้องอาศัยวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งส่วนตัวมองว่าแทนที่จะไปเสียเงินในการจ้างบริษัทขนส่งเพื่อส่งยาให้ผู้ป่วย ก็ใช้กลไกของอสม.ในการดำเนินการ เพราะอย่างไรเสียเราก็จะมีการยกระดับศักยภาพ อสม.และให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมอยู่แล้ว โดยทั้งหมดเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยเลือกเองว่าจะใช้วิธีการนี้หรือไม่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด

ผู้สื่อข่าวสอบถามการแบ่งงานในกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องแบ่งงานในกระทรวงสาธารณสุขอย่างไม่เป็นทางการแล้ว โดยภายในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือ และสรุปอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เบื้องต้นที่ตนมองไว้ว่าอยากจะเข้าไปดูแลงานมีอยู่ 4 กรม คือ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)แต่ต้องขอดูความชัดเจนในสัปดาห์หน้า