สสส.-ไทยโรดส์ ผนึกภาคี เปิดผลปี 61 ทั่วประเทศสวมหมวกกันน็อคไม่ถึง 50% ช็อก! ผู้โดยสารเด็กสวมเพียง 8% ด้านกรุงเทพฯ เอาจริงมาตรการเมืองต้นแบบสวมหมวกกันน็อค 100% ปีเดียวพบยอดคนสวมสูงถึง 85%
วันที่ 30 ก.ค. 62 ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน มูลนิธิไทยโรดส์ พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ประจำปี 2561 พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองและทิศทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยในอนาคต โดยผู้แทนจาก สสส. สอจร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศวปถ.
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 ประธานในงานกล่าวว่า ผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2561 จัดทำขึ้นโดย มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดย สสส.เองให้ความสำคัญกับการมีฐานข้อมูลการสวมหมวกนิรภัยซึ่งเป็นฐานเดียวของประเทศ ณ ตอนนี้ ที่เก็บมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบรวมกว่า 9 ปี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย สามารถนำไปใช้อ้างอิงเป็นฐานข้อมูลสำหรับการติดตามประเมินผลการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์สวมใส่หมวกนิรภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย การประชาสัมพันธ์รณรงค์ และอื่นๆ
“การสูญเสียอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในแต่ละปีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ “ศีรษะ” ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์เดียวที่จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในขณะที่ประสบอุบัติเหตุ แม้ว่าในปี 2554 รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%” แต่ผลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศยังคงมีแนวโน้มคงที่ ไม่ถึง 50% อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนด้วยกัน” นพ.วีระพันธ์ กล่าว
นายณัฐพงศ์ บุญตอบ
ด้าน นายณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า การสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 แล้ว โดยสำรวจผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จำนวน 1,529,808 คน ทั้งในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พบว่า ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยสวมหมวกนิรภัยเพียง 45% แบ่งเป็นผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยเพียง 52% และ 22% ตามลำดับ จังหวัดที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยสูงสุดของแต่ละภูมิภาค เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง (ปี 2559-2561) ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ (53%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ (46%) ภาคกลางและตะวันออก (ไม่รวม กทม.) จ.นนทบุรี (59%) และภาคใต้ จ.ภูเก็ต (61%) นอกจากนี้จังหวัดที่มีพัฒนาการของอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นดีเด่น (3 ปีย้อนหลัง) ในเขตชุมชนเมือง ได้แก่ ภาคเหนือ จ.แพร่ (69%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองบัวลำภู (66%) ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.ระยอง (56%) และ ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช (75%) และจังหวัดที่มีพัฒนาการของอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นดีเด่น (3 ปีย้อนหลัง) ในเขตชุมชนชนบท ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ (56%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ (41%) ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.สระบุรี (45%) และ ภาคใต้ จ.ภูเก็ต (50%) และอัตราการสวมหมวกนิรภัย ในกลุ่มผู้โดยสารสูงสุด ปี 2561 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (55%)
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุรวมผู้ขับขี่และผู้โดยสารพบว่า กลุ่มผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัย 48% กลุ่มวัยรุ่น 22% และกลุ่มเด็กเฉพาะผู้โดยสาร มีการสวมหมวกนิรภัยเพียง 8% เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบบริบทพื้นที่การสำรวจพบว่า อัตราสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารใน เขตเมืองใหญ่ 78% เขตเมืองรอง 45% และเขตชุมชนชนบท เพียง 31% เท่านั้น ขณะที่กรุงเทพมหานครเมืองขนาดใหญ่และมีความเข้มงวดในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับภาคีต่างๆ ได้ประกาศนโยบาย “กรุงเทพมหานคร เมืองต้นแบบ สวมหมวกนิรภัย 100%” และดำเนินการตลอดปี 2561 ส่งผลให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ สวมหมวกนิรภัยสูงถึง 85% โดยเฉพาะในกลุ่มผู้โดยสารที่มีการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มสูงขึ้นจาก 39% ในปี 2560 เป็น 55% ในปี 2561 สูงที่สุดในประเทศ
สอบถามหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thairoads.org
- 233 views