ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ถกปัญหาธุรกิจน้ำเมาข้ามชาติรุกตลาดเอเชีย ทำยอดนักดื่มในเอเชียสูง 34% ในรอบ 7 ปี เพิ่มขึ้นจาก 3.5 เป็น 4.7 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี วอน WHO ทบทวนมาตรการคุมระดับประเทศ พร้อมวางแผนพัฒนานโยบายร่วมระดับโลก แสดงสปิริตประกาศนโยบายปลอดเหล้า 100%
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษางานต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 72 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคไม่ติดต่อที่กำลังเป็นวาระระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกมีการอภิปรายถึงสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบอย่างเข้มข้น และเรียกร้องให้ยกระดับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลก ซึ่งประเทศไทยได้เป็นผู้แทนภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) รวม 11 ประเทศ ได้แสดงความกังวลถึงปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงอย่างมากในภูมิภาคเอเชีย โดยเพิ่มขึ้น 34% ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2553-2560 จากอัตราการบริโภค 3.5 เป็น 4.7 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนของธุรกิจแอลกอฮอล์ข้ามชาติที่มุ่งเป้าขยายฐานลูกค้าในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และทำการตลาดผ่านโลกออนไลน์อย่างหนัก
“การศึกษาพยากรณ์แนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโลกและภูมิภาคเอเชีย จะเพิ่มสูงขึ้นอีกมากในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่สุราเป็นสิ่งเสพติดเพียงประเภทเดียวที่ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศควบคุม มีเพียงยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเครื่องมือวิชาการที่พัฒนามานานกว่า 10 ปีแล้ว แม้การจัดการปัญหาที่ผ่านมาจะมีความก้าวหน้า แต่ยังไม่เพียงพอกับการลดปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสุขภาพและสังคม การควบคุมปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือวาระสำคัญ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วนในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ” นพ.วิโรจน์ กล่าว
นพ.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ประเทศสมาชิกได้เรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ทบทวนการทำงานในระดับประเทศ และมาตรการต่างๆ อย่างจริงจังว่า มาตรการที่มีอยู่นั้นเพียงพอต่อการแก้ปัญหาในสถานการณ์นี้หรือไม่ โดยในระหว่างการประชุมมีประเทศสมาชิกอีก 25 ประเทศแสดงท่าทีสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ อาทิ ปานามา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก นอกจากนี้ ไทยยังได้เรียกร้องให้ WHO ซึ่งเป็นองค์กรผู้นำด้านสุขภาพ ให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาคมโลก โดยกำหนดการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่อาคารของ WHO ทุกแห่งทั่วโลก รวมทั้งการห้ามมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงที่ WHO เป็นผู้สนับสนุน โดยทีมเลขาของ WHO รับทราบข้อเรียกร้องเรื่องนโยบายปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100% และจะเร่งดำเนินการทบทวนปัญหาและดำเนินการโดยเร็ว
ด้าน ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวในที่ประชุมว่า วาระการจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกฝ่าย องค์การอนามัยโลกจะดำเนินการทบทวนและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินมาตรการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับโลก โดยจะปรึกษาหารือกับประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ และจะนำผลการศึกษามารายงานต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 73 ในปี 2563 พร้อมข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการในอนาคตต่อไป
- 67 views