มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เปิดโปงแผนบริษัทบุหรี่ระดับโลกตั้งมูลนิธิบังหน้า สร้างงานวิจัยและโหมสร้างภาพลักษณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขายบุหรี่พันธุ์ใหม่ เผยทั่วโลกประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับองค์กรนี้
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในขณะนี้ บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของโลกพยายามอย่างยิ่งที่จะขยายตลาดบุหรี่พันธุ์ใหม่ ที่อ้างว่าเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ โดยได้สนับสนุนให้ตั้งมูลนิธิขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ชื่อมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ โดยอ้างว่าเพื่อสนับสนุนการวิจัยเพื่อการยุติการสูบบุหรี่ ส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ และลดอันตรายจากบุหรี่ โดยให้เงินสนับสนุนปีละ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ปี ล่าสุดมูลนิธินี้จะจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคต่าง ๆ ใช้ชื่องานว่า The Smoke-Free Dialogues โดยอ้างว่าเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและจัดทำ Smoke-Free Index ซึ่งกำหนดจะมาจัดที่ประเทศไทย ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ และได้เชิญผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ไปเข้าร่วม
“การจัดประชุมเช่นนี้ผิดกฎหมายมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่ห้ามบริษัทบุหรี่สนับสนุนบุคคลหรือหน่วยงานร่วมการประชุม อีกทั้งในส่วนของประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2554 ที่กำหนดให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก มาตรา 5.3 ที่ห้ามไม่ให้หน่วยงานราชการเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ” ศ.นพ.ประกิต เผย
ผู้ได้รับเชิญ อาทิ นางทิชา ณ นคร ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา กรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอีกหลายท่านได้ ปฏิเสธที่จะไปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว “เรารู้ทันว่าการจัดทำ Smoke-Free Index โดยมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ มิได้ต้องการพัฒนาดัชนีเพื่อเสริมกลไกการควบคุมการบริโภคยาสูบตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นเพียงการหาข้อมูลมาสนับสนุนแผนธุรกิจที่ต้องการวางตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส นายทุนใหญ่ในการก่อตั้งมูลนิธินี้” รศ.นพ.สุทัศน์ หนึ่งในผู้ได้รับเชิญกล่าว
ล่าสุด รัฐบาลตุรกีได้สั่งให้ยกเลิกการประชุมในแบบเดียวกันนี้ ซึ่งมีกำหนดจัดที่ประเทศตุรกีในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้ออกหนังสือเวียนถึงผู้ว่าการของทุกรัฐ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ขอให้ทุกหน่วยงานไม่มีการสังฆกรรมใด ๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่
ดร.เรณู การ์ก นักวิชาการจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก มีนโยบายชัดเจนที่ไม่สังฆกรรมใด ๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะจากการดำเนินการเพื่อแสวงกำไรของอุตสาหกรรมยาสูบ และได้กำหนดแนวทางไว้อย่างชัดเจนว่าให้รัฐบาลเข้มงวดการมีปฏิสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงความร่วมมือกับอุตสาหกรรมยาสูบ
“ถ้าบริษัทนี้มีความจริงใจที่จะผลักดันให้ทั่วโลกไร้ควันบุหรี่จริง บริษัทฯ ควรจะต้องสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก แต่ความจริงที่ปรากฏ คือ บริษัทนี้ ได้ต่อต้านนโยบายเหล่านี้โดยสิ้นเชิง บริษัทฯ ได้ทำการวิ่งเต้นล็อบบี้ ยื้อเวลา และขัดขวางการออกนโยบาย กฎหมาย เพื่อการควบคุมยาสูบตามกรอบขององค์การอนามัยโลกมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วได้ทุ่มทุนมหาศาลกว่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 720 ล้านบาทในการต่อต้านการออกกฎหมายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ในประเทศอุรุกวัย” ดร.เรณูเผย
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ทางสมาพันธ์และเครือข่ายมีนโยบายชัดเจนว่า เราจะไม่ร่วมมือใด ๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่
“ชื่อมูลนิธิเขาดูดีมาก เพื่อล่อให้คนเข้าใจผิดไปร่วมมือกับเขา แต่ผมว่านักวิชาการไทยมีจรรยาบรรณ และรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของบริษัทบุหรี่ เราเชื่อว่าเขายังมีแผนอื่น ๆ อีกเยอะ เพราะเขาต้องการเปลี่ยนทิศทางการตลาดสู่บุหรี่พันธุ์ใหม่ สมาพันธ์ฯ จะร่วมกับเครือข่ายนานาชาติในการส่งสัญญาณให้เขารู้ว่าไม่มีใครร่วมมือกับมูลนิธินี้ แต่ละปี 8 ล้านชีวิตต้องสังเวยให้กับธุรกิจยาสูบและมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องตกเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ดังนั้น อย่าหลงเชื่อธุรกิจยาสูบหรือข้อมูลที่เกิดจากการสนับสนุนของธุรกิจยาสูบ” ศ.นพ.รณชัย กล่าว
- 104 views