แก้ปัญหาภาวะหมดไฟทำงานของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขง่าย ๆ เริ่มต้นจากการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ขอบคุณภาพจาก abcnews
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ‘ภาวะหมดไฟทำงาน (Burnout)’ ทำงานถูกพูดถึงกันอย่างหนาหู อีกทั้งองค์กรอนามัยโลกยังออกมาประกาศให้ภาวะหมดไฟเป็นภาวะผิดปกติชนิดหนึ่ง (อ่านต่อ: อนามัยโลกยก ‘ภาวะหมดไฟทำงาน’ เป็นภาวะผิดปกติ)
ขณะที่สหรัฐอเมริกา สภาวะหมดไฟทำงานถูกยกให้เป็นวิกฤติสำหรับแวดวงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เมื่องานวิจัยชี้ว่าแพทย์กำลังอยู่ในภาวะหมดไฟมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญกว่านั้นคือภาวะหมดไฟของพวกเขาส่งผลต่อประสิทธิภาพและผลลัพธ์ในการรักษาอีกด้วย (อ่านต่อ: นักวิจัยเรียกร้องให้ภาวะหมดไฟของแพทย์เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข)
ส่งผลให้หลาย ๆ ภาคส่วนออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐและโรงพยาบาลต่าง ๆ ออกมาดำเนินการแก้ไขโดยด่วน เมื่อภาวะหมดไฟส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขย่ำแย่ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ยิ่งไปกว่านั้น ยังสุ่มเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด
นอกเหนือกว่านั้น เมื่อผู้ให้บริการทางสาธารณสุขมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ทั้งหมดจะสะท้อนออกมาเป็นข้อผิดพลาดทางการแพทย์ที่ส่งผลอันตรายต่อชีวิตคนไข้
อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาดังกล่าว สามารถเริ่มต้นได้ทันที โดยจากบทความแก้ไขวิกฤติภาวะหมดไฟทำงานของแพทย์เริ่มต้นจากการนอนหลับ ‘Fixing the Resident Burnout Crisis Starts With Sleep’ โดยแพทย์ Kunal Sindhu เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2019 บนเว็บไซต์วิชาการทางการแพทย์อย่าง medscape.com ชี้ว่า ภาวะหมดไฟทำงานสามารถแก้ไขได้ หากมองไปยังปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
โดยข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์ที่ชื่อว่า Journal of General Internal Medicine เปิดเผยว่า แพทย์อินเทิร์นทั่วสหรัฐมีอัตราชั่วโมงในการนอนหลับลดลงมากถึง 14.4% กล่าวคือจาก 7.6 ชั่วโมง/คืน เหลือเพียง 6.5 ชั่วโมง/คืน ขณะที่แพทย์ทั่วไปจะอยู่ที่ 7.18 ชั่วโมง/คืน ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นช่วงเวลา on-call แพทย์อินเทิร์นจะลดเหลืออยู่ที่ 2.19 ชั่วโมง/คืน
เลวร้ายกว่านั้น สำหรับแพทย์ศัลยกรรมอินเทิร์นจะมีอัตราค่าเฉลี่ยชั่วโมงนอนอยู่ที่ 40.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือคิดเป็น 5.8 ชั่วโมง/วัน
นอกจากนั้น ยังมีการพบว่า แพทย์ศัลยกรรมที่นอนหลับต่ำกว่า 6 ชั่วโมง/วัน ก่อนจะทำการผ่าตัดในแต่ละครั้งมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ที่รุนแรงมากถึง 170%
จากข้อค้นพบดังกล่าวส่งผลให้แวดวงสาธารณสุขในสหรัฐเกิดความตื่นตัวกันและออกมาตอบสนองต่อวิกฤติภาวะหมดไฟกันเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ หรือในเชิงนโยบายของสถานพยาบาลเอง เพื่อจำกัดชั่วโมงการทำงานและเวรของเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชั่วโมงการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมของฝ่ายผู้กำหนดนโยบายและผู้เกี่ยวข้องทั้งในระดับองค์กรหรือรัฐเองจะยังไม่ชัดเจน ถึงอย่างนั้นก็มีทิศทางที่ดีเพิ่มมากขึ้น เมื่อการนอนหลับถือเป็นปัจจัยพื้นฐานแต่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ทั้งข้อเสียของการนอนหลับไม่เพียงพอยังส่งผลต่อปัญหาร่างกายของคนนั้น ๆ เองที่ท้ายสุดแล้วผลกระทบเหล่านั้นอาจสามารถสะท้อนกลับไปสู่คนไข้ได้อีกด้วย
อ้างอิง: Fixing the Resident Burnout Crisis Starts With Sleep (medscape.com)
- 224 views