เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 CNN.com รายงานว่า ภาวะหมดไฟซึ่งสะท้อนจากความเครียดรุนแรงจากการทำงานอาจเป็นการวินิจฉัยใหม่ที่จะบันทึกอยู่ในเวชระเบียนของเรา
CNN.com ระบุว่า ล่าสุดองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) เป็นความผิดปกติชนิดหนึ่งตามที่ระบุไว้ในบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (ICD-11) อันเป็นคู่มือทางการแพทย์สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคซึ่งสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 72 ได้ลงมติรับรองให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
ภาวะหมดไฟปรากฏในหมวดปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการจ้างงานหรือการว่างงาน โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะหมดไฟได้ตามอาการดังต่อไปนี้
1.รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรงหรือหมดพลัง
2.มีความผูกพันกับงานน้อยลง หรือมีความรู้สึกด้านลบต่องานที่ทำอยู่
3.มีประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง
เบื้อต้นก่อนที่จะวินิจฉัยว่ามีภาวะหมดไฟนั้นแพทย์จะต้องตัดความผิดปกติอื่นเสียก่อน เช่น ภาวะวิตกกังวลและความผิดปกติด้านอารมณ์ และการวินิจฉัยนั้นจะต้องเจาะจงเฉพาะสภาพแวดล้อมการทำงานโดยไม่เกี่ยวข้องกับแง่มุมอื่นของชีวิต
ภาวะหมดไฟเป็นหัวข้อที่มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ แต่ที่ผ่านมาภาวะหมดไฟก็ยังคงมีสถานะเป็นแนวคิดเชิงวัฒนธรรมแบบกว้างๆ เพื่อให้นักวิจัยสามารถเข้าใจร่วมกัน
การทบทวนวรรณกรรมในวารสาร SAGE Open เมื่อปี 2560 ทำให้พบบทความการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะหมดไฟโดยเฮอร์เบิร์ต ฟรอยเดนเบอร์เกอร์ซึ่งตีพิมพ์ไว้เมื่อปี 2517
ลินดาและทอร์สเตน ไฮเนมาน ผู้นิพนธ์ของการศึกษาทบทวน เชื่อว่าจะมีบทความการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะหมดไฟอีกหลายร้อยเรื่องตลอด 4 ทศวรรษหน้า อย่างไรก็ดีภาวะหมดไฟจะยังไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิต แม้ว่าทุกวันนี้จะเป็น “หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด” ก็ตาม
ผู้นิพนธ์ให้เหตุผลว่าการศึกษาวิจัยภาวะหมดไฟส่วนใหญ่เน้นไปที่ “สาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง” แทนที่จะพยายามพัฒนาเกณฑ์การวินิจฉัยจำเพาะ อันเป็นผลให้ภาวะหมดไฟเป็นหัวข้อที่ “กำกวมและไม่มีข้อสรุปแน่ชัด”
การศึกษาทบทวนทิ้งท้ายไว้ว่าการวินิจฉัยแยกโรคระหว่างภาวะซึมเศร้าและภาวะหมดไฟยังคงเป็นกำแพงที่จะยกระดับภาวะหมดไฟเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง
แปลจาก
Burnout is an official medical diagnosis, World Health Organization says [edition.cnn.com]
- 184 views