“หมอศักดิ์ชัย” เผย 5 เดือน “การพัฒนาระบบสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ” ผลงานชัด หลัง “กรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.” ลงนามความร่วมมือ ระบุสถานพยาบาลในเรือนจำขึ้นทะเบียนหน่วยบริการประจำครบทุกแห่ง ส่วนผู้ต้องขังลงทะเบียนสิทธิบัตรทองกว่า 2.5 แสนคน พร้อมเชื่อมโยงข้อมูล รพ.แม่ข่ายที่ร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่สถานพยาบาลในเรือนจำ จับมือ รพ.แม่ข่าย เร่งให้บริการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังครอบคลุมทุกมิติ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดูแล “กลุ่มเปราะบาง” ให้เข้าถึงบริการสุขภาพภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในส่วนของ “กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ” ว่า จากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมราชทัณฑ์ และ สปสช. ที่ได้ “ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562” เพื่อร่วมพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและเพิ่มศักยภาพสถานพยาบาลในเรือนจำ ดูแลผู้ต้องขังให้เข้าถึงบริการที่จำเป็น ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถสภาพ รวมถึงคัดกรองและรักษาโรคที่มีความชุกสูงในเรือนจำ เช่น วัณโรค เอชไอวี/เอดส์ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและจิตเวช
จากความร่วมมือดังกล่าว ที่ผ่านมา สปสช.ได้เร่งขับเคลื่อนระบบเพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ สปสช.ได้ทำการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลในเรือนจำให้เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายของหน่วยบริการประจำหรือโรงพยาบาลในพื้นที่ครบทั้งหมด 142 แห่งแล้ว พร้อมทั้งลงทะเบียนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับผู้ต้องขังที่มีสิทธิทั้งหมดแล้ว จำนวน 329,024 คน ไม่รวมผู้ต้องขังที่เป็นสิทธิว่างและที่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นอีกจำนวน 10,765 คน ทำให้สามารถเข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพได้ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้จัดสรรและจ่ายชดเชยค่าบริการในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่หน่วยบริการประจำในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้จัดการระบบข้อมูลการให้บริการ ระบบการเงิน และคุณภาพบริการที่ได้เชื่อมต่อระบบข้อมูลทะเบียนประวัติผู้ต้องขังหรือ 17 ระบบกับระบบข้อมูล 43 แฟ้ม อยู่ระหว่างดำเนินการ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากการดำเนินงานร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงานในช่วงระยะเวลาเพียง 5 เดือน ส่งผลให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลกองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ดังนี้ บริการตรวจคัดกรองโรค 102 แห่ง บริการวัคซีนป้องกันโรคแก่ผู้ต้องขังตามฤดูกาล 92 แห่ง แพทย์/พยาบาลเวชปฏิบัติจากโรงพยาบาลในพื้นที่เข้าตรวจรักษา 81 แห่ง จิตแพทย์/นักจิตวิทยา/พยาบาลจิตเวช เข้าตรวจรักษา 69 แห่ง ทันตแพทย์ให้บริการในเรือนจำ 96 แห่ง จัดระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย 15 แห่ง มีห้องควบคุมผู้ต้องขังป่วยที่โรงพยาบาล 25 แห่ง โรงพยาบาลในพื้นที่สนับสนุนยา วัสดุเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ 84 แห่ง และเรือนจำได้รับงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 22 แห่ง นับเป็นแนวโน้มที่ดี
ส่วนการดำเนินงานจากนี้ 3 หน่วยงาน จะร่วมขับเคลื่อนตามแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ ประจำปีงบประมาณ 2562-2564 อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับศักยภาพการดำเนินงานของสถานพยาบาลในเรือนจำเชื่อมโยงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบหลักประกันสุขภาพอื่น รวมถึงหน่วยบริการแม่ข่ายในพื้นที่เพื่อให้เป็นทีมสุขภาพเดียวกัน เพิ่มคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพที่ดีให้กับผู้ต้องขัง
“นับเป็นความสำเร็จของ 3 หน่วยงานที่ร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ บรรลุตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการคัดกรองโรค การรักษา การฟื้นฟู และการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขที่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม จากแต่เดิมเป็นกลุ่มเปราะบางมีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมาก” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 58 views