กรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน คัด 10 บริการเด็ดทางการแพทย์ ชูจุดแข็ง งัดจุดเด่น ดึงดูดรายได้จากชาวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับว่ามีโรงพยาบาล (รพ.) ที่ดีที่สุด ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก จัดอันดับโดยเว็บไซต์แนะนำ รพ.ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับนักท่องเที่ยว (https://worldsbesthospitals.net) ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ รพ.ของไทยได้รับการยอมรับ ได้แก่ ราคาที่เหมาะสม การให้บริการมีคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย อัตราการรักษาที่ประสบความสำเร็จสูง (Success rate) ผู้ให้บริการมีอัธยาศัยไมตรีที่ดี ประกอบกับไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม ก็มีส่วนช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยมากยิ่งขึ้น
แต่แม้ว่าไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านการจัดบริการสุขภาพในระดับโลก แต่คาดการณ์ว่าจะมีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้นในกลุ่มประเทศที่ประกาศนโยบายด้าน Medical Tourism เช่นเดียวกัน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น ดังนั้น กรม สบส. จึงเห็นควรส่งเสริมบริการรักษาพยาบาล (Medical Service) และการบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (wellness)ที่มีศักยภาพดึงดูดผู้รับบริการ(Magnet)รองรับการเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยตนได้มอบหมายให้กองสุขภาพระหว่างประเทศ กรม สบส. เป็นผู้ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
ด้านนางเสาวภา จงกิตติพงศ์ ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยว่าจากการประชุมร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาเลือกประเภทบริการที่มีศักยภาพดึงดูดผู้รับบริการ ทั้งหมด 10 กลุ่มบริการ ได้แก่
(1) Regenerative เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ
(2) Cardio Science โรคหัวใจ
(3) Musculoskeletal โรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
(4) Dental Clinic บริการทันตกรรม
(5) IVF บริการรักษาผู้มีบุตรยาก
(6) การรักษาโรคมะเร็ง
(7)การศัลยกรรม/ศัลยกรรมเสริมสวย/ผ่าตัดแปลงเพศ
(8) Eye Treatment : Cataract โรคต้อกระจก
(9) Precision Medicine การรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ
(10) Alternative medicine การแพทย์ทางเลือก
โดยกรม สบส.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(Medical Hub) ได้รวบรวมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอุปสรรคในด้านกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การโฆษณา การเลือกเพศ ฯลฯ นำไปเสนอผู้บริหาร เพื่อพิจารณาหาแนวทางว่าสามารถปลดล็อกอุปสรรคดังกล่าวได้หรือไม่ รวมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนากฎหมาย การสนับสนุนการลงทุนในด้าน Clinical Research ในมนุษย์ การส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านบุคลากร เป็นต้น ทางด้านสถานพยาบาลเอกชนต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของบริการในกลุ่ม Magnet และพัฒนาบริการให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อนำพาประเทศไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ดึงรายได้เข้าสู่ประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
- 129 views