ที่ประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ประกาศปฏิญญา สร้างบ้านปลอดบุหรี่ ชี้ คนไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ตายจากควันบุหรี่มือสองปีละเฉียดหมื่นคน ตั้งเป้าเร่งควบคุมบุหรี่ในทุกระดับอย่างทั่วถึง
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา กรุงเทพฯ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 “tobacco and lung health” เพื่อรณรงค์สิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดจากควันบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็กซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยในอนาคต
โดย ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์บุหรี่ของไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ปี 2560 พบว่า การสูบบุหรี่ของคนไทยยังอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง ซึ่งจำนวนผู้สูบบุหรี่ยังมีถึง 10.7 ล้านคน โดยร้อยละ 32.7 เคยมีการสูบบุหรี่ในบ้าน โดยผู้สูบบุหรี่ในบ้านร้อยละ 73.8 มีการสูบในบ้านสูบทุกวัน ทำให้สมาชิกในบ้านต้องได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากควันบุหรี่มือสอง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนใกล้ชิด โดยพบว่า ปี 2560 คนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่สูงถึงกว่า 70,000 คน และเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง 8,278 คน ไม่เฉพาะแค่บุหรี่ แต่บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีไอระเหย มีสารอันตรายเป็นพิษต่อปอดและระบบทางเดินหายใจของผู้สูบและผู้ใกล้ชิด ทำให้เสี่ยงปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด และหัวใจวาย ได้เช่นกัน
“ทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพผู้สูบและผู้ใกล้ชิดชัดเจน มาตรการบ้านปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า จะสามารถช่วยลดอัตราการได้รับ ควันบุหรี่มือสองและไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง ของสมาชิกในครอบครัวลงได้ และยังส่งผลดีทำให้สมาชิกในบ้านที่สูบค่อยๆ ลดจำนวนการสูบในแต่ละวัน จนนำไปสู่การตัดสินใจเลิกในที่สุด” ศ.นพ.รณชัย กล่าว
ศ.นพ.รณชัย กล่าวต่อว่า เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการสนับสนุนให้ บ้านปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ลดความรุนแรงต่อสุขภาพ ที่ประชุมมีการประกาศปฏิญญาร่วมกันดำเนินนโยบายและสร้างมาตรการต่างๆ เพื่อลดอันตรายของประชาชน โดยมีเป้าหมาย คือ 1.ทำให้เกิดความร่วมมือกันขับเคลื่อนให้ “มาตรการบ้านปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า สำเร็จเป็นรูปธรรม 2.ร่วมมือกันส่งเสริมให้การไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น และ3.ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งการดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกระดับ เพื่อสุขภาวะของประชาชนไทย ทุกเพศ ทุกวัย อย่างทั่วถึงและเสมอหน้ากัน
ทั้งนี้ ภายในงาน มีการมอบรางแก่ผู้มีผลงานด้านการป้องกันและควบคุมยาสูบ 3 รางวัล ได้แก่
1.รางวัลวิจัยดีเด่น น.ส.กันยารัตน์ ธวัชชัยเจริญยิ่ง นักวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร งานวิจัย มาตรการจำกัดการขายบุหรี่ในร้านค้าให้เยาวชนโดยการมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยกระบวนการวิจัยเปิดโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่เป็นผู้สำรวจสถานการณ์ปัญหาในชุมชน
2.รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น เรืออากาศเอกหญิงจตุพร เฉลิมเรืองรอง นักวิจัยคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานวิจัย โปรแกรมสร้างแรงจูงใจป้องกันโรคต่อการเลิกบุหรี่ในข้าราชการทหารอากาศ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
และ 3.รางวัลนวัตกรรมดีเด่น รศ.ดร.อติวงศ์ สุชาโต รองคณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ระบบการศึกษาทางไกล e-learning ให้กับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ศจย.โดยนำหลักสูตรการพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมยาสูบเผยแพร่ในช่องทางสื่อออนไลน์
- 42 views