กรมการแพทย์เผย 2 ช่องทางเข้าถึงการรักษากัญชาทางการแพทย์ พร้อมเดินหน้าวิจัยสารสกัดกัญชาเพื่อผู้ป่วย มอบ 3 สถาบัน “ประสาทวิทยา-ผิวหนัง-มะเร็ง” หาคำตอบประสิทธิผลกัญชารักษาโรค
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงช่องทางการเข้าถึงการรักษาด้วยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ว่า สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาในการรักษาโรคนั้น มีอยู่ 3 ช่องทาง คือ 1.จากตัวผลิตภัณฑ์กัญชาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา 2.จากโครงการศึกษาวิจัยต่างๆ และ3.จากช่องทางพิเศษ ที่เรียกว่า Special Access Scheme หรือ SAS แต่ในประเทศไทยยังไม่มีผลิตภัณฑ์กัญชาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จึงทำให้การเข้าถึงการรักษามีเพียงโครงการศึกษาวิจัย และผ่านช่องทางพิเศษ หรือ SAS
“สำหรับการเข้าถึงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ จะมีเงื่อนไข โดยต้องเป็นการรักษาผู้ป่วยเฉพาะรายเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะใช้ช่องทางนี้ได้หมด และการจะเข้ารับการรักษาผ่านช่องทางพิเศษได้นั้น ต้องเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้รักษา และผู้ป่วย ซึ่งต้องลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร โดยทั้งหมดต้องเป็นไปตามแนวทางของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด” นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการศึกษาวิจัยอย่างไรต่อไปหลังจากรับสารสกัดกัญชาทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความสำคัญ เพราะกรมการแพทย์ เป็นกรมวิชาการ ต้องมีข้อมูลที่สามารถตอบให้สังคมได้รับทราบว่า กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างไร หรือได้ผลจริงหรือไม่ เช่น โรคมะเร็ง ได้มอบหมายให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติดำเนินการวิจัยเรื่องนี้ โดยขณะนี้ได้วางแผนโครงการวิจัยแล้ว และจะเริ่มทดลองในหลอดทดลองที่มีเซลล์มะเร็งหลายๆ ชนิด และมาดูว่าได้ผลหรือไม่ จากนั้นจึงทำการทดลองในสัตว์ทดลองที่เป็นหนู เมื่อได้ผลก็จะวิจัยต่อในคน นอกจากนี้ ยังมีสถาบันประสาทวิทยา ศึกษาในกลุ่มโรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ปลอกประสาทอักเสบ และยังมีสถาบันโรคผิวหนัง จะดำเนินการวิจัยในเรื่องการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งในต่างประเทศมีการวิจัยเรื่องนี้
เมื่อถามกรณีมีหลายคนยังไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องศึกษาวิจัยอีก ในเมื่อปัจจุบันมีการใช้กัญชาในการรักษาโรคอยู่แล้ว นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า การวิจัยเป็นการตอบว่า ได้ผลจริงๆ ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ เพราะฉะนั้นจึงมีกระบวนการ ระเบียบวิธีวิจัยเพื่อจะตอบว่า ได้ผลจริงๆ ไม่ใช่ว่าบางคนได้ผล บางคนไม่ได้ผล อย่างบางคนได้ผลอาจมีปัจจัยอื่นก็ได้ ดังนั้น การทำวิจัยจะเป็นตัวตอบโจทย์ว่า สารสกัดกัญชาได้ผลจริงหรือไม่ และหากตอบแบบนี้ได้ ต่อไปทั้งแพทย์ผู้รักษา และทั้งผู้ป่วย จะเกิดความมั่นใจว่าได้ประโยชน์จริงๆ ส่วนที่บอกว่าการวิจัยเหล่านี้อาจช้าเกินไปหรือไม่นั้น จริงๆ ไม่ได้ห้ามรักษาในผู้ป่วยจำเป็น เนื่องจากขณะนี้มีช่องทางการเข้าถึงการรักษา คือ โครงการวิจัย และการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การคัดเลือกผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัย หรือการรักษาช่องทางพิเศษ อาจมีจำนวนจำกัด จะทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ไม่ทั่วถึงหรือไม่ นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า โครงการวิจัยจะมีเกณฑ์ว่าผู้ป่วยกลุ่มไหนจะต้องเข้าโครงการฯ และแต่ละโครงการก็มีจำนวนผู้ป่วยไม่เท่ากัน บางโครงการอาจมีจำนวนมาก หรือจำนวนไม่มากนัก แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถเข้ารับการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ SAS ได้
เมื่อถามว่า หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยสารสกัดกัญชาจะติดต่ออย่างไร นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูว่าสงสัยเรื่องอะไร อย่างหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ช่องทางพิเศษ กฎหมาย ก็ต้องถามทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แต่หากสงสัยเรื่องผลิตภัณฑ์ว่า จะออกมาเป็นอย่างไร มีปริมาณเท่าไหร่ ออกมาใช้ได้เมื่อไหร่อย่างไร ก็ต้องถามไปทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือหากสงสัยเรื่องการวิจัยที่จะมีต่อไปในส่วนของกรมการแพทย์ หรือโครงการที่เกี่ยวกับโรคที่จะรักษาได้ หรือเรื่องเกี่ยวกับแพทย์แผนปัจจุบัน ก็สอบถามมายังกรมการแพทย์ได้ แต่ในส่วนของแพทย์แผนไทยก็ต้องสอบถามไปยังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- 185 views